รายงานดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ประจำเดือน ก.พ.2552

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 3, 2009 17:00 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน กุมภาพันธ์ 2552

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยสรุป

จากการสำรวจราคาสินค้าวัสดุก่อสร้าง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 88 รายการ ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาและวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2552

ในปี 2543 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเท่ากับ 100 และเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เท่ากับ 138.4สำหรับเดือนมกราคม 2552 คือ 137.5

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนมกราคม 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7

2.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2551 ลดลงร้อยละ 8.8

2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ลดลงร้อยละ 7.6

3. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เทียบกับเดือนมกราคม 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 (มกราคม 2552 ลดลงร้อยละ 2.0) เป็นการเพิ่มขึ้นเดือนแรกหลังจากลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน สาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีหมวดสุขภัณฑ์ ร้อยละ 12.8 (โถส้วม อ่างล้างหน้าและที่ปัสสาวะ) และหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 2.3 (เหล็กเส้นกลม เหล็กฉากและ ตะแกรงเหล็ก) เป็นผลจากการลดปริมาณการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

4. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ลดลงร้อยละ 8.8 (มกราคม 2552 ลดลงร้อยละ 6.5) ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สาเหตุมาจากการลดลงของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 27.4 (เหล็กเส้น เหล็กฉาก ตะแกรงเหล็กและ ประตูเหล็ก) และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ร้อยละ 4.9(สายไฟฟ้า สายเคเบิลและท่อประปา) เนื่องจากต้นทุนการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

5. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ยเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ลดลงร้อยละ 7.6 สาเหตุมาจากการลดลงของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 25.6 (เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ผลิตภัณฑ์เหล็ก และตะแกรงเหล็ก) และอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ร้อยละ 4.2 (สายไฟ และท่อประปา) เนื่องจากต้นทุนการผลิตลดลง

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ