รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ประจำเดือน มี.ค. 2552 และไตรมาสแรกของปี 2552

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 1, 2009 11:08 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน มีนาคม 2552 และไตรมาสแรกของปี 2552

กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมีนาคม 2552 โดยสรุป

จากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมีนาคม 2552

ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนมีนาคม 2552 เท่ากับ 145.6 เดือนกุมภาพันธ์ 2552 ดัชนีเท่ากับ 144.4

2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.8

2.2 เดือนมีนาคม 2551 ลดลงร้อยละ 4.0

2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - มีนาคม 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ลดลงร้อยละ 3.5

3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมีนาคม 2552 โดยเฉลี่ยสูงขึ้น ร้อยละ 0.8 ทั้งนี้จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 5.7 ขณะที่ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.6และ0.2 ตามลำดับ

3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีสูงขึ้น ร้อยละ 5.7 (เดือนกุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.7) จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ คือ ข้าวเปลือกเจ้า เป็นช่วงปลายฤดูผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศมีมากหลังจากที่เวียดนามประกาศเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2552 ให้หยุดการส่งออกข้าวเป็นเวลา 4 เดือน พืชผัก หลายชนิดมีราคาสูงขึ้น เช่น หัวหอม หัวกระเทียม ผักคะน้า ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี จากสภาพอากาศร้อนอบอ้าว มีผลต่อการเพาะปลูก โดยเฉพาะ มะนาว เป็นช่วงนอกฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย สุกรมีชีวิตและไข่ ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง

3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีลดลง ร้อยละ 0.6 (เดือนกุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.5) จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว แร่ตะกั่ว และแร่สังกะสี

3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีลดลง ร้อยละ 0.2 (เดือนกุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.2) ส่วนใหญ่มีผลจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา และน้ำมันก๊าด ตามการลดลงของตลาดโลก ผลิตภัณฑ์อาหาร ที่สำคัญ คือ ไก่สด จากสถานศึกษาต่าง ๆ ปิดภาคเรียน ส่งผลให้ความต้องการบริโภคลดลง สำหรับสินค้าอื่น ๆ ที่มีราคาลดลง เช่น น้ำสับปะรด น้ำส้ม น้ำมันพืช และอาหารสัตว์สำเร็จรูป

4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมีนาคม 2552 เทียบกับเดือนมีนาคม 2551 ลดลงร้อยละ 4.0 โดยหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีลดลง ร้อยละ 19.6 จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว แร่ดีบุก แร่สังกะสี และแร่ตะกั่ว

หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีลดลงร้อยละ 7.1 จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง เม็ดพลาสติก และเหล็กชนิดต่างๆ ส่วนหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 13.7 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวเปลือกเจ้า พืชผัก (หัวหอมใหญ่ หัวกระเทียม มะนาว มะเขือเทศ ผักคะน้า ต้นหอม ผักชี)

5. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไตรมาสแรกของปี 2552 เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2551 ลดลงร้อยละ 3.5 จากการลดลงของดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ร้อยละ 18.4 จากการลดลงของราคา น้ำมันดิบ และแร่ เป็นสำคัญ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีลดลงร้อยละ 5.5 จากการลดลงของปิโตรเลียม เม็ดพลาสติก ยางพารา และเหล็ก ขณะที่ดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 8.5 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวเปลือก และผลไม้ เป็นสำคัญ

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ