ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน มีนาคม 2552 และเฉลี่ยระยะ 3 เดือนของปี 2552
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2552 โดยสรุป
จากการสำรวจราคาสินค้าวัสดุก่อสร้าง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 88 รายการ ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาและวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2552
ในปี 2543 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเท่ากับ 100 และเดือนมีนาคม 2552 เท่ากับ 136.0สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 คือ 138.4
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2552 ลดลงร้อยละ 1.7
2.2 เดือนมีนาคม 2551 ลดลงร้อยละ 12.0
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - มีนาคม 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ลดลง ร้อยละ 9.1
3. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2552 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ลดลงร้อยละ 1.7 (กุมภาพันธ์ 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7) สาเหตุสำคัญจากการลดลงของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 3.9 (เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ และเหล็กแผ่น) หมวดซีเมนต์ ร้อยละ 1.3 (ปูนฉาบ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนซีเมนต์ผสม) และหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ร้อยละ 1.2 (ผลิตภัณฑ์ไม้ ได้แก่ไม้ปาร์เก้) โดยดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กลดลงเป็นผลจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาก หลังจากปริมาณความต้องการใช้เหล็ก ทั้งในและต่างประเทศลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่วนหมวดซีเมนต์ เป็นผลจากความต้องการในต่างประเทศลดลงทำให้มีปริมาณปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ราคาปูนซีเมนต์ปรับตัวลดลง
4. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2552 เทียบกับเดือนมีนาคม 2551 ลดลงร้อยละ 12.0 (กุมภาพันธ์ 2551 ลดลงร้อยละ 8.8) ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สาเหตุมาจากการลดลงของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 32.7 (เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กเส้น ตะแกรงเหล็ก) และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ร้อยละ 6.6 (สายไฟฟ้า สายเคเบิลและท่อประปา) เนื่องจากต้นทุนการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
5. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ยเดือน มกราคม - มีนาคม 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ลดลงร้อยละ 9.1 (กุมภาพันธ์ ลดลงร้อยละ 7.6) สาเหตุมาจากการลดลงของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 28.1 (เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ และตะแกรงเหล็ก) และอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ร้อยละ 5.0 (สายไฟฟ้า และท่อประปา) เนื่องจากต้นทุนการผลิตลดลง
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์