รายงานดัชนีราคาระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือน ก.พ. 2552

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 1, 2009 11:13 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาระหว่างประเทศของไทยเดือน กุมภาพันธ์ 2552

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ 2552 เทียบกับเดือนมกราคม 2552 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 และดัชนีราคานำเข้าของประเทศ ลดลงร้อยละ 0.8

ดัชนีราคาส่งออก

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เทียบกับเดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (เดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.8) เป็นการสูงขึ้นของหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ร้อยละ 2.5 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 0.8 ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลงร้อยละ 0.7 สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 2.5 (เดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 2.0) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซิน) ตามภาวะตลาดโลก

หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.8 (เดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 6.5) จากการสูงขึ้นของราคาข้าวส่งออกทุกชนิด โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว 100% ทั้งนี้ เป็นผลจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลประกอบกับผลผลิตข้าวลดลง

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนมกราคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.2) แต่ในหมวดย่อยราคาเปลี่ยนแปลงลดลงได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องวีดีโอ เครื่องเสียง เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ) เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ

สินค้าสำคัญราคาสูงขึ้น ได้แก่ วงจรพิมพ์ เหล็ก เหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมที่ใช้ในอุตสาหกรรม เม็ดพลาสติก (เอทิลีน โพรพิลีน สไตรีน) ผลิตภัณฑ์เซรามิก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (วัตถุดิบเพื่อใช้ทำเครื่องสำอาง)

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.7 (เดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าว เครื่องดื่ม ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ (น้ำยาง (CR) ยางสโตรีนบิวทาไดอีน ยางบิวทาไดอีน)

2. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.3 เป็นการลดลงของหมวดสินค้าแร่และสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 31.0 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 4.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 2.3 ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.0

3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเฉลี่ย เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของหมวดอุตสาหกรรม ร้อยละ 2.2

ดัชนีราคานำเข้า

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เทียบกับเดือนมกราคม 2552 ลดลง ร้อยละ 0.8 (เดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.2) เป็นผลจากการลดลงของสินค้านำเข้า 4 หมวดใหญ่ โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 2.7 หมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 1.6 หมวดสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 1.2 และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 1.1 ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.6

หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 2.7 (เดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 2.3) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ และถ่านหิน เนื่องจากความต้องการน้ำมันของโลกอ่อนตัวลง

หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.6 (เดือนมกราคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.9) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะทำด้วยเหล็ก เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ

หมวดสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.2 (เดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.3) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.1 (เดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.2) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ นมและเนย ยารักษาโรค ตามภาวะเศรษฐกิจถดถอย

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.6 (เดือนมกราคม2552 ไม่เปลี่ยนแปลง) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ปลาทูน่าและปลาแซลมอลแช่เย็นแช่แข็ง พืชน้ำมันและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงได้แก่ เม็ดพลาสติก กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมี

2. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 5.3 เป็นผลจากการลดลงในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงมากถึง ร้อยละ 30.5 หมวดสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 2.6 และหมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 1.5 สำหรับหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.8 และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.4

3. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเฉลี่ย เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ดัชนีราคา นำเข้าลดลงร้อยละ 4.4 สาเหตุสำคัญจากการลดลงของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ลดลงร้อยละ 39.5

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ