กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหวดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในประเทศไตรมาสที่2/2551 และ 6 เดือนแรกของปี 2551 โดยสรุป ดังนี้
จากการสำรวจและจัดเก็บค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนจากผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาค ครอบคลุม 6 หมวด คือ หมวดบริการขนส่งสินค้าทั่วไป หมวดบริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ หมวดบริการขนส่งน้ำมัน หมวดบริการขนส่งก๊าซหมวดบริการขนส่งสารเคมีและผลิตภัณฑ์เคมี และหมวดบริการขนส่งสินค้าเบ็ดเตล็ด โดยนำมาคำนวณดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนเป็นรายไตรมาส เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในรูปของดัชนี และกำหนดให้ปีฐาน 2543 = 100 ดังนี้
1. ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่2/2551 เท่ากับ 141.8 สูงขึ้นจากปีฐาน 2543 ร้อยละ 41.8 แต่เมื่อเทียบกับ
1.1 ไตรมาสที่ 1/2551 สูงขึ้นร้อยละ 9.3
1.2 ไตรมาสที่ 2/2550 สูงขึ้นร้อยละ 21.2
1.3 ในระยะ 6 เดือนแรกปี 2551 สูงขึ้นจากระยะเดียวกันปี 2550 ร้อยละ 16.2
2. ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่2/2551 เทียบกับไตรมาสที่ 1/2551 สูงขึ้นร้อยละ 9.3 เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 21.5 เป็นผลให้บริการขนส่งสินค้าปรับค่าบริการ ดังนี้
2.1 ค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ที่ผันแปรตามราคาน้ำมันดีเซลปรับค่าบริการสูงขึ้นทันทีได้แก่ บริการขนส่งก๊าซ ร้อยละ 17.1 ( ค่าขนส่งก๊าซ LPG ) บริการขนส่งน้ำมัน ร้อยละ 11.8 และบริการขนส่งสารเคมีและผลิตภัณฑ์เคมี ร้อยละ 3.3
2.2 ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าขอปรับค่าบริการขนส่งตามต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ร้อยละ 10.9 บริการขนส่งสินค้าทั่วไป ร้อยละ 8.0 ( ค่าขนส่งเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย สุราและเบียร์ กระเบื้อง ปูนซีเมนต์ สัตว์น้ำ และพืชผัก-ผลไม้) และบริการขนส่งสินค้าเบ็ดเตล็ด ร้อยละ 6.9 ( ค่าขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค)
3. ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 2/2551 เทียบกับไตรมาสที่ 2/2550 ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 21.2 เป็นผลจากค่าบริการขนส่งสินค้าสูงขึ้นทุกหมวด ที่สำคัญได้แก่ ค่าบริการขนส่งก๊าซโดยเฉพาะก๊าซLPG จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยสัดส่วนการใช้ก๊าซ LPG ในรถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ถึงร้อยละ 60 เนื่องจากราคาน้ำมันเบ็นซินและน้ำมันดีเซล มีราคาแพงและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก
4. ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2551 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2550 สูงขึ้น ร้อยละ16.2 เป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 36 ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอดในช่วงที่ผ่านมา
ที่มา: กลุ่มดัชนีราคาผู้ผลิต สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์