รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ประจำเดือน พฤษภาคม 2552

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 1, 2009 11:52 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤษภาคม 2552 โดยสรุป

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการ ครอบคลุม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2552

ในปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนพฤษภาคม 2552 เท่ากับ 104.3 (เดือน เมษายน 2552 คือ 104.6)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2552 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนเมษายน 2552 ลดลงร้อยละ 0.3

2.2 เดือนพฤษภาคม 2551 ลดลงร้อยละ 3.3

2.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม - พฤษภาคม ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 1.1

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2552 เทียบกับ เดือนเมษายน 2552 ลดลงร้อยละ 0.3 ( เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ) สาเหตุสำคัญเนื่องจากการปรับตัวลดลงของสินค้าประเภท ผักและผลไม้ ข้าวสารเจ้า หมวดการศึกษา (ค่าเล่าเรียน,ค่าธรรมเนียม,หนังสือและอุปกรณ์การศึกษ) และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย,หญิง) เป็นผลจากรัฐบาลได้มีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ทำให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและเครื่องแบบนักเรียนลดลง สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร ไข่และผลิตภัณฑ์นม ปลาและสัตว์น้ำ น้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ผลิตภัณฑ์ยาสูบและสุรา เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับภาษีสรรพสามิตสูงขึ้น รวมทั้งค่าน้ำประปาที่ประชาชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นผลจากรัฐบาลได้ลดการสนับสนุนมาตรการให้เงินอุดหนุนค่าสารธารณูปโภคในส่วนของค่าน้ำประปาลงในพื้นที่บางจังหวัด

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.1 เป็นอัตราที่สูงขึ้นน้อยกว่าเดือนก่อนหน้า ( เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ) ปัจจัยสำคัญมาจากราคาอาหารหลายชนิดที่ยังทรงตัวสูง ได้แก่ เนื้อสุกร ร้อยละ 5.2 ไก่สด ร้อยละ 2.7 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 1.0 ( ไข่ไก่ นมสด นมข้นหวาน นมผง และนมเปรี้ยว ) ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.2 และเครื่องปรุงอาหาร ร้อยละ 0.1 ( น้ำมันพืช น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำส้มสายชูและเครื่องปรุงรส ) สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง คือ ผักและผลไม้ ร้อยละ 2.9 ได้แก่ ผักคะน้า ผักชี มะนาว ต้นหอม พริกสด มะม่วง เงาะ มังคุด ลิ้นจี่ และลองกอง เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนพื้นที่เพาะปลูกมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้บางชนิดทำให้ผักและผลไม้ออกสู่ตลาดมาก และข้าวสารเจ้า เป็นต้น

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.5 ( เดือน เมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ0.7 ) ปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของหมวดการศึกษา ร้อยละ 20.6 (ค่าเล่าเรียน,ค่าธรรมเนียมการศึกษา,หนังสือและอุปกรณ์การศึกษา ) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 3.6 ( เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย,หญิง ) เนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและเครื่องแบบนักเรียนลดลง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.5 ( ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้าและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ) ในขณะที่สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ย ร้อยละ 3.4 ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ4.9 (บุหรี่และสุรา ) เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับภาษีสรรพสามิตสูงขึ้น และค่าน้ำประปา ร้อยละ 2.6 เป็นผลจากรัฐบาลได้ลดการสนับสนุนมาตรการให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคในส่วนของค่าน้ำประปาลงในพื้นที่บางจังหวัด และค่าใช้จ่ายและบริการส่วนบุคคล ( สบู่ถูตัว ยาสีฟัน น้ำหอม กระดาษชำระ น้ำยาระงับกลิ่นกายและค่าแต่งผมชาย ) เป็นต้น

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2551 ลดลงร้อยละ 3.3 เป็นอัตราที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 15.2 ( น้ำมันเชื้อเพลิงและค่าโดยสารสาธารณะ ) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 10.0 ( ค่าเล่าเรียน,ค่าธรรมเนียมการศึกษา,หนังสือและอุปกรณ์การศึกษา )หมวดหมวดเคหสถาน ร้อยละ 4.9 ( ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา )และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 3.4 ( เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย,หญิง ) สำหรับดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 4.2 ( แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสุกร ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 5.5 ( ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ) และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.4 ( ค่ายาและเวชภัณฑ์และค่าของใช้ส่วนบุคคล )

5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับช่วงระยะเดียวกัน (มกราคม - พฤษภาคม ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 1.1 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 25.0 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 26.0 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 38.2 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.5 ( เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย,หญิง ) เป็นสำคัญ สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 8.1 และดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 7.2

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤษภาคม 2552 เท่ากับ 102.3 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนเมษายน 2552 ลดลงร้อยละ 0.6

6.2 เดือนพฤษภาคม 2551 ลดลงร้อยละ 0.3

6.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม- พฤษภาคม ) ปี 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.1

โดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนพฤษภาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือน เมษายน 2552 ลดลงร้อยละ 0.6 โดยสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย,หญิง และค่าเล่าเรียน,ค่าธรรมเนียม,หนังสือและอุปกรณ์การศึกษา ขณะที่สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องปรุงอาหาร และค่าน้ำประปา เป็นต้น

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ