รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ประจำเดือน พฤษภาคม 2552

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 1, 2009 11:56 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พฤษภาคม 2552

กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม2552 โดยสรุป

จากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ สรุปผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม 2552

ในปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนพฤษภาคม 2552 ดัชนีเท่ากันกับเดือนเมษายน 2552 คือ 152.2

2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม 2552 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนเมษายน 2552 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

2.2 เดือนพฤษภาคม 2551 ลดลงร้อยละ 7.2

2.3 เฉลี่ยเดือน (มกราคม - พฤษภาคม) ช่วงเดียวกันปี 2551 ลดลงร้อยละ 4.2

3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม 2552 เทียบกับเดือนเมษายน 2552 โดยเฉลี่ย ไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ดัชนีหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 5.8 ขณะที่ ดัชนีหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.7 และ1.6 ตามลำดับ

3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีลดลง ร้อยละ 5.8 (เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 18.7) จากการลดลงของดัชนีราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 7.1 ผลผลิตการเกษตรสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก พืชไร่ (ข้าวโพด ถั่วเขียว มันสำปะหลัง) พืชผักและผลไม้ เช่น มะนาว ผักคะน้า ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี มะม่วง ส้มเขียวหวาน ทุเรียน และลิ้นจี่ เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาล ทำให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือกผลผลิตนาปรังออกสู่ตลาดมากประกอบกับเป็นช่วงฝนตกชุก ทำให้ข้าวเปลือกมีความชื้นสูงราคาจึงต่ำลง นอกจากนี้ ผลผลิตจากการประมงดัชนีราคาลดลงร้อยละ 2.3 ตามการลดลงของราคาปลาน้ำจืด ปลาทะเล กุ้ง หอย เป็นต้น

3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 2.7 (เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.3) จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว แร่ตะกั่ว แร่ดีบุก และแร่สังกะสี

3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 1.6 (เดือนเมษายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.0) จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สูงขึ้นร้อยละ 3.5 ตามการสูงขึ้นของราคาเนื้อสุกร ไก่สด ปลาแปรรูป (ปลาป่น) ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม น้ำมันพืชบริสุทธิ์ (น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันรำข้าว) ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ และยาสูบ ได้แก่ สุรา บรั่นดี เบียร์ และบุหรี่ ปรับราคาสูงขึ้นตามภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สูงขึ้นร้อยละ 6.8 ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่อง น้ำมันเตา และน้ำมันก๊าด ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก สูงขึ้นร้อยละ 3.3 ราคาสินค้าที่สูงขึ้น ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง กระสอบพลาสติก และถุงพลาสติก

4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม 2552 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2551 ลดลงร้อยละ 7.2 เป็นอัตราการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สาเหตุจากการลดลงของดัชนีหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ร้อยละ 16.5 และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 10.2 ตามการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ประเภท ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มและยาสูบ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ผลิตภัณฑ์โลหะขั้นมูลฐาน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์และอิเลคโทรนิค เป็นต้น ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 8.2 จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตรร้อยละ 9.6 และผลผลิตการประมงสูงขึ้นร้อยละ 1.3 เป็นสำคัญ

5. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเฉลี่ยเทียบกับระยะเดียวกัน (มกราคม-พฤษภาคม) ปีก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 4.2 โดยหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีลดลงร้อยละ 17.8 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีลดลงร้อยละ 7.0 จากการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมประเภท ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์หนัง ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์กระดาษและเยื่อกระดาษ สำหรับหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 11.5 จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตด้านการเกษตร ร้อยละ 13.6 เช่น พืชผัก ผลไม้ ปลาและ สัตว์น้ำ เป็นต้น

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ