รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ประจำเดือน กรกฎาคม 2552

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 4, 2009 12:13 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2552 โดยสรุป

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการ ครอบคลุม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2552

ในปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกรกฎาคม 2552 เท่ากับ 104.7 (เดือน มิถุนายน 2552 คือ 104.7)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2552 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนมิถุนายน 2552 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

2.2 เดือนกรกฎาคม 2551 ลดลงร้อยละ 4.4

2.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม - กรกฎาคม ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 1.9

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2552 เทียบกับ เดือนมิถุนายน 2552 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ( เดือนมิถุนายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ) ซึ่งก่อนหน้านี้ดัชนีมีการเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้นและลดลง สาเหตุสำคัญเป็นผลจากการสูงขึ้นและลดลงของราคาสินค้าที่สำคัญ คือ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างค่าน้ำประปาใหม่ในพื้นที่บางจังหวัดและการสูงขึ้นของราคาบุหรี่และเบียร์ จากการปรับภาษีสรรพสามิต นอกจากนี้เป็นผลจากราคาอาหาร ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ไข่และผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารบริโภคนอกบ้านและเครื่องประกอบอาหารบางชนิด สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผักและผลไม้ ปลาและสัตว์น้ำ ข้าวสารเหนียว สิ่งที่เกี่ยวกับกับทำความสะอาดและเครื่องรับอุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.3 ( เดือนมิถุนายน 2552 ลดลงร้อยละ 0.4 ) ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นผลจากราคาอาหารหลายชนิดได้มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ร้อยละ - 3.5 เป็นผลจากสุกรมีชีวิตที่หน้าฟาร์มมีราคาลดลง ผักและผลไม้ ร้อยละ - 1.9 ได้แก่ ผักคะน้า แตงกวา เห็ด กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักชี ผักบุ้ง มะนาว เงาะ ลำใย มังคุด และลองกอง เป็นผลจากปริมาณผลผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากและเป็นช่วงต่อเนื่องของฤดูกาลผลไม้บางชนิด ไก่สด ร้อยละ - 0.4 ข้าวสารเหนียว ร้อยละ - 0.4 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ - 0.3 และเครื่องปรุงอาหารบางชนิด ( น้ำมันพืชและมะพร้าวผลแห้ง/ขูด ) สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ร้อยละ + 0.1 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ + 0.4 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ + 0.4 ( เครื่องดื่มรสชอกโกแลต น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชาและกาแฟพร้อมดื่ม ) และผลไม้และเครื่องปรุงอาหารบางชนิด ( ส้มเขียวหวาน มะม่วง น้ำปลา และซอสหอยนางรม )

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.1 เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ( เดือนมิถุนายน สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ) ปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยในประเทศ ร้อยละ +0.7 ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ + 0.3 ( บุหรี่และเบียร์) ค่าน้ำประปา ร้อยละ + 0.3 เป็นผลจากการปรับโครงสร้างค่าน้ำประปาในพื้นที่บางจังหวัด และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ร้อยละ + 0.1 ( ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ผ้าอนามัยและใบมีดโกน ) ในขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ - 0.3 ( ผงซักฟอก น้ำยางล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจานและน้ำยารีดผ้า ) เครื่องรับอุปกรณ์สื่อสาร ร้อยละ - 0.2 ( เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) และสุรา ร้อยละ - 0.1

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2551 ลดลงร้อยละ 4.4 เป็นอัตราที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ -18.0 ( น้ำมันเชื้อเพลิงและค่าโดยสารสาธารณะ ) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ -10.1 ( ค่าเล่าเรียน,ค่าธรรมเนียมการศึกษา,หนังสือและอุปกรณ์การศึกษา ) หมวดเคหสถาน ร้อยละ -5.1 (ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา )และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ -3.4 ( เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย,หญิง ) สำหรับดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น ร้อยละ 3.2 ( เนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหารสำเร็จรูป ) สำหรับดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น คือ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ +13.7 (ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ) และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ +1.3 ( ค่ายาและเวชภัณฑ์และค่าของใช้ส่วนบุคคล )

5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับช่วงระยะเดียวกัน (มกราคม - กรกฎาคม ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 1.9 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ - 25.6 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ - 25.0 และค่าน้ำประปา ร้อยละ - 35.6 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ -1.3 ( เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย,หญิง ) เป็นสำคัญ สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 6.8 และดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 8.0

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2552 เท่ากับ 102.5 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนมิถุนายน 2552 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

6.2 เดือนกรกฎาคม 2551 ลดลงร้อยละ 1.2

6.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม- กรกฎาคม ) ปี 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.5

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนกรกฎาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือน มิถุนายน 2552 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง เป็นผลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่สูงขึ้นและลดลง โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าน้ำประปา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ