รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ประจำเดือน กรกฎาคม 2552

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 4, 2009 12:18 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน กรกฎาคม 2552

กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2552 โดยสรุป
จากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ สรุปผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2552

ในปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนกรกฎาคม 2552 ดัชนีเท่ากับ 148.2 และเดือนมิถุนายน 2552 ดัชนีเท่ากับ 150.3

2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2552 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนมิถุนายน 2552 ลดลงร้อยละ 1.4

2.2 เดือนกรกฎาคม 2551 ลดลงร้อยละ 12.9

2.3 เฉลี่ยเดือน (มกราคม - กรกฎาคม) 2552 กับช่วงเดียวกันปี 2551 ลดลง ร้อยละ 6.5

3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2552 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2552 โดยเฉลี่ยลดลงร้อยละ 1.4 ทั้งนี้จากการลดลงของดัชนีราคาทุกหมวด โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 6.1 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 1.2 และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.2

3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีลดลง ร้อยละ 6.1 (เดือนมิถุนายน 2552 ลดลงร้อยละ 11.5) จากการลดลงของดัชนีราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 7.5 ผลผลิตการเกษตรสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ พืชผัก เช่น แตงกวา หัวหอมใหญ่ ผักคะน้า ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ผักชี โดยเฉพาะ มะนาว เป็นช่วงผลผลิตฤดูใหม่ออกสู่ตลาดมาก ดอกกล้วยไม้ สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่วนสินค้าอื่น ๆ ที่มีราคาลดลง ได้แก่ ผลปาล์มสด น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง สุกรมีชีวิตและไก่มีชีวิต เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนทำให้มีอาหารและสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรและไก่ลดลง

3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีลดลงร้อยละ 1.2 (เดือนมิถุนายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.6) จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และแร่ดีบุก

3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีลดลงร้อยละ 0.2 (เดือนมิถุนายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.3) จากการลดลงของดัชนีราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ร้อยละ 3.3 ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และน้ำมันก๊าด ตามการลดลงของราคาตลาดโลก สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ลดลง ร้อยละ 1.2 จากการลดลงของราคาเครื่องประดับและทองรูปพรรณ สำหรับสินค้าอื่น ๆ ที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ แป้งข้าวเจ้า ไม้อัด ปุ๋ยเคมี และยางแผ่นรมควัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2552 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2551 ลดลงร้อยละ 12.9 สาเหตุจากการลดลงของดัชนีหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 9.7 ตามการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 12.8 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 17.1 จากการลดลงของราคา ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 13.4 ตามการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ เป็นต้น

5. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเฉลี่ย เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2552 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ดัชนีลดลงร้อยละ 6.5 โดยดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลง ร้อยละ 17.3 จากการลดลงของราคาปิโตรเลียมและแร่โลหะ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีลดลงร้อยละ 8.8 จากการลดลงของราคาสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญประเภทผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 6.6 สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 2.0 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 5.0 เป็นสำคัญ

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ