รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ประจำเดือน สิงหาคม 2552

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 2, 2009 12:14 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนสิงหาคม 2552 โดยสรุป

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการ ครอบคลุม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2552

ในปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนสิงหาคม 2552 เท่ากับ 105.1 (เดือนกรกฎาคม 2552 คือ 104.7)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2552 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.4

2.2 เดือนสิงหาคม 2551 ลดลงร้อยละ 1.0

2.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม - สิงหาคม ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 1.9

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2552 เทียบกับ เดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ( เดือนกรกฎาคม 2552 ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ) เป็นภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ปัจจัยสำคัญเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มทะยอยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยในประเทศมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้เป็นผลกระทบจากราคาอาหารและสินค้าบางชนิดที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ไข่ ผักแปรรูปและอื่นๆ วัสดุก่อสร้าง ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และผลิตภัณฑ์ยาสูบ ในขณะที่สินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ผักสด ผลไม้สด ปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร เครื่องถวายพระ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และอุปกรณ์ยานพาหนะ เป็นต้น

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.1 ( เดือนกรกฎาคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.3 ) สาเหตุสำคัญเป็นผลจากราคาอาหารหลายชนิดได้มีการปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือนก่อนหน้า ได้แก่ เนื้อสุกร ร้อยละ 1.8 ผักสดและผลไม้สด ร้อยละ 1.1, 0.2 ตามลำดับ ได้แก่ ผักคะน้า ผักกาดขาว เห็ด กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักชี เงาะ แตงโม ลำไย และลองกอง เป็นผลจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากและประกอบกับเป็นช่วงปลายฤดูกาลของผลไม้หลายชนิด เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.2 ( น้ำมันพืช มะพร้าวผลแห้ง/ขูด น้ำปลาและซีอิ๊ว ) นมและผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.1 ( นมเปรี้ยวและครีมเทียม) สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ร้อยละ 0.6 ( ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว) เป็นผลจากปริมาณผลผลิตข้าวในท้องตลาดลดลง ไข่ ร้อยละ 2.6 ( ไข่ไก่ ไข่เป็ดและไข่เค็ม ) และผักแปรรูปและอื่นๆ ร้อยละ 5.7 ( หัวหอมแดง กระเทียม และพริกแห้ง ) สำหรับผลไม้บางชนิดที่ราคาทรงตัวสูง คือ ส้มเขียวหวาน มะม่วง และทุเรียน เป็นต้น

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.5 เป็นอัตราที่สูงขึ้นค่อนข้างมาก ( เดือนกรกฎาคม สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ) ปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยในประเทศ ร้อยละ 5.8 ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ร้อยละ 0.2 ( บุหรี่ ) วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 1.0 ( ปูนซีเมนต์ และอิฐ ) ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ร้อยละ 0.1 ( สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แชมพู ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิวและกระดาษชำระ ) ค่ายาและเวชภัณฑ์ ร้อยละ 0.1 ( ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดลดไข้ และยาแก้ไข้หวัด ) สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ เครื่องถวายพระ ร้อยละ 0.4 เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.2 ( เบียร์ และสุรา ) และอุปกรณ์ยานพาหนะ ร้อยละ 0.3 ( แบตเตอรี่รถยนต์ ) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทำความสะอาดและของใช้ส่วนบุคคลบางชนิด (น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้า ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น น้ำหอมและครีมนวด )

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 ลดลงร้อยละ 1.0 เป็นอัตราที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 10.0 ( น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะและอุปกรณ์ยานพาหนะ ) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 10.2 ( ค่าเล่าเรียน, ค่าธรรมเนียมการศึกษา, หนังสือและอุปกรณ์การศึกษา ) และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 3.4 ( เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย,หญิง ) สำหรับดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น ร้อยละ 1.4 ( เนื้อสุกร ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหารสำเร็จรูป ) สำหรับดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น คือ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 13.6 ( ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 4.4 ( ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปาและค่าเช่าบ้าน ) และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.3 ( ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาลและค่าของใช้ส่วนบุคคล )

5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับช่วงระยะเดียวกัน (มกราคม - สิงหาคม ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 1.9 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 23.6 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 21.2 และค่าน้ำประปา ร้อยละ 29.6 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 1.6 ( เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย,หญิง ) เป็นสำคัญ สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 6.1 และดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 7.4

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนสิงหาคม 2552 เท่ากับ 102.5 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนกรกฎาคม 2552 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

6.2 เดือนสิงหาคม 2551 ลดลงร้อยละ 0.2

6.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม- สิงหาคม ) ปี 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.4

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนสิงหาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือน กรกฎาคม 2552 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ( เป็นอัตราที่คงที่ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) เป็นผลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่มีทั้งที่สูงขึ้นและลดลง โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ อุปกรณ์ยานพาหนะ เครื่องถวายพระและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ