รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน พฤศจิกายน 2552

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 4, 2010 17:27 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2552 จำนวน 2,163 ราย ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมของทั้งประเทศปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 18.0 เป็น 15.5 ดัชนีมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นทางการเมืองส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนและการลงทุนของเอกชนทำให้การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มและทิศทางที่ดีขึ้นจากภาคการส่งออก แต่ยังมีปัญหาการระงับโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการจ้างงานในอนาคต เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนของปีที่ผ่านมาค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 10.1 เป็น 15.5 เนื่องจากการใช้จ่ายของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเริ่มส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้การจ้างงานและการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 8.9 เป็น 7.5 เนื่องจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นและปัญหาราคาสินค้าการเกษตร

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3เดือน) ปรับตัวลดลงจาก 24.1 เป็น 20.8 เนื่องจากปัญหาการว่างงานจากการลดจำนวนพนักงานลง และหลายหน่วยงานได้ใช้นโยบายลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้รายได้ของประชาชนลดลง

เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศของเดือนพฤศจิกายน 2552 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน(แก๊สโซฮอล์ 95) ทรงตัวอยู่ที่ระดับราคาลิตรละ 31.74 บาท ส่วนน้ำมันดีเซล ทรงตัวอยู่ที่ระดับราคาลิตรละ 26.79 บาท

เมื่อพิจารณาสัดส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรากฏว่าในเดือนพฤศจิกายน 2552
  • สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกว่า “ดีขึ้น” ร้อยละ 6.0 “ไม่ดี” ร้อยละ 66.4
  • สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 15.2 “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 45.5
  • ภาวการณ์หางานทำในปัจจุบันประเมินว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 5.0 “หางานยาก” ร้อยละ 69.4
  • ภาวการณ์หางานทำในอนาคตคาดว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 5.5 “หางานยาก” ร้อยละ 60.7
  • รายได้ในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 12.5 และ “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 30.6

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2552 ปรากฏว่า ประชาชนในทุกภาคยังขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น (เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา) คือ ภาคใต้ จาก 17.2 เป็น 18.4 เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล และราคาสินค้าเกษตร (ยางพารา) มีราคาสูงขึ้น

ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 13.1 เป็น 8.6 ภาคกลาง จาก 20.2 เป็น 14.0 ภาคเหนือ จาก 22.1 เป็น 19.7 ภาคตะวันออก จาก 13.4 เป็น 11.3 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 19.7 เป็น 17.7 เนื่องจาก การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่กระทบต่อต้นทุนการผลิต รวมทั้งปัญหาความแตกแยกทางการเมืองซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนในแง่ความมั่นคงและความปลอดภัยอย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิด ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าว ยางพารา และข้าวโพด โดยเฉพาะราคาข้าวที่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในราคาตลาดโลก ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างมากต่อภาคการเกษตร

ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขเป็นดังนี้

หน่วย:ร้อยละ

     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   การว่างงาน   ค่าครองชีพ   เศรษฐกิจทั่วไป   คอรัปชั่น   ยาเสพติด
ประเทศไทย           16.2       16.6       13.4        12.5         11.1        8.5      6.9
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล      14.6       14.8       14.7        12.7          9.9        9.8      7.8
ภาคกลาง             16.3       16.9       12.4        12.6         11.8       10.0      6.8
ภาคเหนือ             15.0       16.1       14.1        12.6         12.2        8.2      6.7
ภาคตะวันออก          22.2       23.7       16.4        12.4         14.8        2.6      2.6
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  17.8       17.7       12.0        12.0         10.2        8.6      7.2
ภาคใต้               16.0       16.0       13.2        12.8         10.8        7.6      6.7

ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาน้ำมัน ราคาสินค้า การว่างงาน ค่าครองชีพ เศรษฐกิจทั่วไป คอรัปชั่น และยาเสพติดตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังนี้

กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ การว่างงานและราคาสินค้า

ภาคกลาง ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาสินค้าและค่าครองชีพ

ภาคเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาสินค้าและการว่างงาน

ภาคตะวันออก ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาสินค้าและการว่างงาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและการว่างงาน/ค่าครองชีพ

ภาคใต้ ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาสินค้า/ราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ การว่างงานและค่าครองชีพ

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

2. ต้องการให้รัฐบาลผลักดันและกระตุ้นมาตรการต่างๆอย่างต่อเนื่อง สร้างงานให้กับประชาชนเพื่อลดปัญหาการว่างงาน

3. แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหายาเสพติดและปัญหาอาชญากรรม

4. ผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น ส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อผลผลิตที่มีมาตรฐานซึ่งนำไปสู่การขยายตลาดการส่งออกในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก

5. หาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยก เพื่อปลูกจิตสำนึกสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ

6. ดำเนินมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยวและภาคการเกษตร

7. หามาตรการรองรับเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่อาจระบาดในระลอก 2

---------------------------------------

หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บ้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อ้อมูลย้อ้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
การอ่านค่าดัชนี

ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้

  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
ภาคผนวก

1. การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ที่แต่ละบุคคลได้รับ โดยใช้หลักการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็นการกำหนดรายได้ของประชากรซึ่งใช้ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มอาชีพดังนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน กำลังศึกษา เกษตรกร รับจ้างรายวัน/รับจ้าง พนักงานเอกชนนักธุรกิจ และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

2. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นอำนาจซื้อที่เกิดขึ้นจริงของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ