รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนมกราคม 2553

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 2, 2010 14:39 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

พาณิชย์ประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคเป็นเลขทศนิยม 2 ตำแหน่งเป็นครั้งแรกนับเป็นประเทศที่ 7 ของโลกโดยดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนมกราคม 2553 เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเป็นตัวเลขหลังจุดทศนิยม 2 ตำแหน่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่จัดทำดัชนีราคาผู้บริโภค มากว่า 60 ปี เท่ากับ 106.29 โดยยังคงเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แสดงทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยราคา น้ำมันมีทิศทางสูงขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ในขณะที่สินค้าในหมวดของใช้ทั่วไปค่อนข้างทรงตัว

เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2553 แสดงการช่วงฟื้นตัวอย่างชัดเจน ตัวเลขการบริโภคในประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นทั้งใน ส่วนของราคาสินค้า และปริมาณสินค้า สะท้อนความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มากขึ้น ทั้งนี้มาจากปัจจัย 2 ประการ คือ

1. การฟื้นตัวการส่งออก ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงานดีขึ้นมาก อัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เป็นต้นมา

2. รายได้ภาคเกษตรกรรมก็ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก จากราคาตลาดโลก

รายละอียดของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมกราคม 2553 โดยสรุปเป็นดังนี้

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่อง นุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การ ศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมกราคม 2553

ในปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมกราคม 2553 เท่ากับ 106.29 (เดือน ธันวาคม 2552 คือ 105.7 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมกราคม 2553 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนธันวาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.6

2.2 เดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 4.1

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมกราคม 2553 เทียบกับ เดือนธันวาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (เดือน ธันวาคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.1) เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีผลกระทบมาจากปัจจัยที่ สำคัญ คือ สินค้าในหมวดอาหารสดและสินค้าอุปโภคหลายชนิดราคาปรับตัวสูงขึ้นรวมทั้งราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายใน ประเทศที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สินค้าสำคัญ ๆที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว เนื้อสุกร ผักและผลไม้ ไก่สด เครื่องดื่มไม่มี แอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป ค่าน้ำประปา ยานพาหนะ ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยววกับทำความสะอาด ในขณะที่สินค้าที่มี ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และอุปกรณ์การบันเทิง เป็นต้น

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ( เดือนธันวาคม 2552 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ) สาเหตุสำคัญ เนื่องจากราคาอาหารส่วนใหญ่มีการปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ร้อยละ 2.6 ( ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว ) เป็นผลจากนโยบาย การประกันรายได้ของรัฐบาล เนื้อสุกร ร้อยละ 1.5 ผักและผลไม้ ร้อยละ 3.0 ได้แก่ ผักกาดขาว แตงกวา ผักคะน้า ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว มะนาว ส้มเขียวหวาน มะม่วง เงาะ แตงโม องุ่น ผลผลิตออกสู่ตลาดลดน้อยลง ขณะที่ความต้องการบริโภคยังมีมาก ไก่สด ร้อยละ 2.2 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.2 ( น้ำอัดลม เครื่องดื่มรสชอกโกแลต ) และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.1 ( ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ ร้อยละ 3.2 มีผลมาจากปริมาณผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาด ซึ่งสาเหตุเกิดจากเกษตรกรรายย่อยไม่ปลดแม่ไก่ที่หมดอายุและการระบายไข่ออกจากสต๊อกจำนวนมากของเอกชนผู้ค้ารายใหญ่

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (เดือนธันวาคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.1 ) สาเหตุ สำคัญมาจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในประเทศสูงขึ้น ร้อยละ 2.0 ค่าน้ำประปา ร้อยละ19.8 เป็นผลจากรัฐบาลได้ปรับลดมาตรการช่วยค่าครองชีพเกี่ยวกับค่าน้ำประปาลง ส่งผลให้ประชาชนต้องรับภาระค่าน้ำประปาเพิ่มขึ้น ยานพาหนะ( รถยนต์ ) ร้อยละ 0.1และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ ทำความสะอาด (ยาสีฟัน แชมพูสระผม ครีมนวดผม ผ้าอนามัย น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยารีดผ้า ) สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.2 ( เบียร์ สุรา )และค่าอุปกรณ์การบันเทิง ร้อยละ 0.3 ( เครื่องรับโทรทัศน์ กล้องถ่ายรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ )

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 4.1 เป็นอัตราที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สาเหตุสำคัญมา จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 3.2 ได้รับผลกระทบมาจากดัชนีหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 8.0 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.8 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.1 ผักและผลไม้ ร้อยละ 9.4 เครื่องดื่มไม่มี แอลกอฮอล์ ร้อยละ1.4 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ1.3 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.8 รวมทั้งผลกระทบจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่ อาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 9.9 (ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 3.9 ( ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา )หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.0 (ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าของใช้ส่วนบุคคล)และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 13.5 ( ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์) อย่างไรก็ตาม ยังมีดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ปรับลดลง คือ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 3.3 และหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 10.3

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมกราคม 2553 เท่ากับ 103.03 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนธันวาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.2

6.2 เดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.6

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนมกราคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือน ธันวาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ( เดือน ธันวาคม 2552 สูงขึ้น ร้อยละ 0.1)โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวทั้งสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าน้ำประปา ค่าของใช้ส่วนบุคคลและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง คือ ค่าอุปกรณ์การบันเทิงและเครื่องดื่ม มีแอลกอฮอล์

7. ผลกระทบของการที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมี ดังนี้

7.1 ประชาชน

ค่าครองชีพของประชาชนในปี 2552 ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ถึงแม้ว่าราคาสินค้ากลุ่มอาหารโดยเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคา น้ำมันที่ลดลงอย่างมากจากปีที่ผ่านมา ประกอบกับมาตรการช่วยค่าครองชีพของรัฐบาล (6 มาตรการ และค่าเล่าเรียน) ทำให้ค่าครองชีพของ ประชาชนลดลง

ด้านการจับจ่ายใช้สอย จากการที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติจะทำให้ภาวะการจ้างงานเริ่มจะดีขึ้น มีผลให้ประชาชนเริ่มมี ความรู้สึกมั่นใจในรายได้ของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

7.2 ผู้ผลิต

เมื่อดัชนีราคาผู้บริโภคเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติจะทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจที่ผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานหรือ เพิ่มชั่วโมงการทำงานมากขึ้น

7.3 รัฐบาล

การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคและเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ชี้ให้เห็นการเริ่ม ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลควรถือโอกาสนี้ใช้นโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลควรดูแลให้การเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายไทยเข้มแข็งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างลื่นไหล ส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่สะดุดลงไป

7.4 ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในช่วงจังหวะนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับการเกื้อหนุนให้ภาวะเศรษฐกิจมีการเติบโต คาดว่าธนาคาร แห่งประเทศไทยน่าจะยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับนี้ไว้

เมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างมั่นคงแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงจะมีการปรับตัวอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจต่อไป และคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553อัตราดอกเบี้ยน่าจะคงที่

ดัชนีราคาผู้บริโภค...ชุดทั่วไปประเทศ....

เดือน มกราคม ปี 2553

(2550=100)

Code    หมวด                        สัดส่วนน้ำหนัก             ดัชนี                          อัตราการเปลี่ยนแปลง              GROUP AND SUBGROUP
                                       ปีฐาน      ม.ค.53    ธ.ค.52    ม.ค.52    ม.ค.53/   ม.ค.53/   ม.ค.-ม.ค.53/
                                                                               ธ.ค.52    ม.ค.52    ม.ค.52-ม.ค.52
0000    รวมทุกรายการ                  100.00      106.29     105.7     102.1      0.6      4.1         4.1          ALL COMMODITIES
1000    หมวดอาหารและเครื่องดื่ม           33.01      118.74     117.9     115.0      0.7      3.2         3.2          FOOD AND BEVERAGES
1110    ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง         2.88      134.67     132.2     124.7      1.9      8.0         8.0          RICE, FLOUR AND CEREAL PRODUCTS
1120    เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ          5.73      120.79     119.8     116.4      0.8      3.8         3.8          MEATS, POULTRY AND FISH
1121    เนื้อสัตว์                         2.29      127.66     126.3     119.6      1.1      6.8         6.8          MEATS
1122    เป็ด ไก่                         1.08      122.40     120.7     118.6      1.4      3.2         3.2          DUCK, CHICKEN AND FROG
1123    ปลาและสัตว์น้ำ                    2.37      114.30     114.0     113.1      0.3      1.1         1.1          FISH AND AQUATIC ANIMALS
1130    ไข่และผลิตภัณฑ์นม                  2.10      117.29     117.5     113.8     -0.2      3.1         3.1          EGGS AND DAIRY PRODUCTS
1140    ผักและผลไม้                      3.90      128.88     125.1     117.8      3.0      9.4         9.4          VEGETABLES AND FRUITS
1150    เครื่องประกอบอาหาร               1.95      116.91     116.8     115.4      0.1      1.3         1.3          SEASONINGS AND CONDIMENTS
1160    เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์             2.00      107.65     107.5     106.2      0.2      1.4         1.4          NON-ALCOHOLIC BEVERAGES
1200    อาหารสำเร็จรูป                  14.45      112.17     112.1     111.3      0.1      0.8         0.8          PREPARED FOOD
1210    อาหารบริโภค-ในบ้าน               7.93      113.81     113.7     112.9      0.1      0.8         0.8          PREPARED FOOD AT HOME
1220    อาหารบริโภค-นอกบ้าน              6.52      111.08     111.1     110.3      0.0      0.7         0.7          FOOD AWAY FROM HOME
2000    หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า         2.96       97.05      97.0     100.4      0.1     -3.3        -3.3          APPAREL AND FOOTWARE
3000    หมวดเคหสถาน                   23.48       96.29      95.6      92.7      0.7      3.9         3.9          HOUSING AND FURNISHING
3100    ค่าที่พักอาศัย                     15.91      100.74     100.7     100.7      0.0      0.0         0.0          SHELTER
3110    ค่าเช่า                         15.19      100.53     100.5     100.5      0.0      0.0         0.0          HOUSE RENT
3200    ไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่าง 5.10       81.05      77.8      64.3      4.2     26.1        26.1          ELECTRICITY, FUEL AND WATER SUPPLY
3300    สิ่งทอสำหรับใช้ในบ้าน               0.18      101.49     101.5     101.5      0.0      0.0         0.0          TEXTILE - HOUSE FURNISHING
3600    สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด           1.43      110.34     110.2     110.4      0.1     -0.1        -0.1          CLEANIMG SUPPLIES
4000    หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 6.87      102.87     102.8     101.9      0.1      1.0         1.0          MEDICAL AND PERSONAL CARE
4100    ค่าตรวจรักษาและค่ายา              2.17      100.99       101     100.8      0.0      0.2         0.2          MEDICAL CARE
4200    ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล                 3.80      104.48     104.3     102.8      0.2      1.7         1.7          PERSONAL CARE EXPENDITURES
5000    หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร 26.80       98.75      98.2      89.8      0.5      9.9         9.9          TRANSPORTATION AND COMMUNICATION
5100    ค่าโดยสารสาธารณะ                5.22       93.12      93.1      92.9      0.0      0.2         0.2          PUBLIC TRANSPORTATION SERVICES
5200    ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง        13.56      102.01     100.9      84.8      1.1     20.3        20.3          VEHICLES AND VEHICLE OPERATION
5400    การสื่อสาร                       4.48       99.41      99.4      99.5      0.0     -0.1        -0.1          COMMUNICATION AND EQUIPMENTS
6000    หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา
          และการศาสนา                  5.21       91.28      91.3     101.8      0.0    -10.3       -10.3          RECREATION AND EDUCATION
7000    หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์    1.66      117.11     117.2     103.2     -0.1     13.5        13.5          TOBACCO AND ALCOHOLIC BEVERAGES
8000    หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหาร และเครื่องดื่ม 66.99       98.29      97.8      93.9      0.5      4.7         4.7          NON-FOOD AND BEVERAGES
9000    กลุ่มอาหารสดและพลังงาน           24.54      116.85     115.1     101.4      1.5     15.2        15.2          RAW FOOD AND ENERGY
9100    อาหารสด                       14.61      125.95     124.1     118.8      1.5      6.0         6.0          RAW FOOD
9200    พลังงาน                         9.93      102.31     100.9      75.0      1.4     36.4        36.4          ENERGY
9300    ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน            75.46      103.03     102.8     102.4      0.2      0.6         0.6          EXCLUDE RAW FOOD AND ENERGY


ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ