รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ธันวาคม 2552

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 2, 2010 16:10 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2552 จำนวน 2,270 ราย ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมของทั้งประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 16.7 เป็น 19.9 ดัชนีมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านแผนปฏิบัติการโครงการไทยเข้มแข็งซึ่งมีส่วนช่วยให้การใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัว สอดรับกับปัจจัยบวกหลายด้าน เช่น การว่างงานลดลง ราคาสินค้าการเกษตรดีขึ้น แต่ปัญหาการระงับโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมาค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 10.2 เป็น 19.9 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น ราคาพืชผลทางด้านการเกษตรสูงขึ้นซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกร แต่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีความเปราะบางจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 8.7 เป็น 10.9 เนื่องจากการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน 5 มาตรการจากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปีนี้ โดยจะต่ออายุมาตรการทั้ง 5 มาตรการออกไปอีก 3 เดือนซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3เดือน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 22.1 เป็น 25.9 เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน การว่างงานลดลง และราคาน้ำมันที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ

เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศของเดือนธันวาคม 2552 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน(แก๊สโซฮอล์ 95) ปรับตัวลดลงจากราคาลิตรละ 31.74 บาท เป็น 31.24 บาท ส่วนน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงจากราคาลิตรละ 26.79 บาท เป็น 25.79 บาท

เมื่อพิจารณาสัดส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม 2552
  • สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกว่า “ดีขึ้น” ร้อยละ 9.6 “ไม่ดี” ร้อยละ 62.0
  • สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 18.4 “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 41.2
  • ภาวการณ์หางานทำในปัจจุบันประเมินว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 6.4 “หางานยาก” ร้อยละ 69.7
  • ภาวการณ์หางานทำในอนาคตคาดว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 10.0 “หางานยาก” ร้อยละ 61.9
  • รายได้ในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 15.3 และ “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 31.1

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2552 ปรากฏว่า ประชาชนในทุกภาคยังขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น (เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา) คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 11.0 เป็น 11.8 ภาคเหนือ จาก 18.0 เป็น 19.6 ภาคตะวันออก จาก 18.1 เป็น 26.4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 18.7 เป็น 25.8 และภาคใต้ จาก 19.0 เป็น 23.6 เป็นผลมาจากโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลและนโยบายประกันรายได้เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ ภาคกลาง จาก 15.8 เป็น 14.8 เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่ยืดเยื้ออย่างต่อเนื่องส่งผลทางจิตวิทยาเชิงลบต่อประชาชนโดยประชาชนยังมีความหวังว่ารัฐบาลจะหาทางแก้ไขให้สังคมไทยกลับมาสามัคคีกันเหมือนเดิม

ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข เป็นดังนี้

หน่วย:ร้อยละ

     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   การว่างงาน   ค่าครองชีพ   เศรษฐกิจทั่วไป   คอรัปชั่น   ยาเสพติด
ประเทศไทย            16.5      16.6       13.9        13.1        11.2         8.0      6.3
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล       16.2      15.2       12.7        14.3        12.2         6.5      5.2
ภาคกลาง              14.9      15.9       13.5        12.2        11.9        11.4      8.6
ภาคเหนือ              16.4      16.3       15.9        12.2        12.1         7.5      6.4
ภาคตะวันออก           13.3      18.9       11.6        13.6        15.8        11.8      6.2
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   17.5      18.6       13.1        12.4         9.6         6.6      6.6
ภาคใต้                18.0      16.0       14.9        13.8         9.3         8.1      5.4

ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาน้ำมัน ราคาสินค้า การว่างงาน ค่าครองชีพ เศรษฐกิจทั่วไป คอรัปชั่น และยาเสพติดตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังนี้

กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคกลาง ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาสินค้าและการว่างงาน

ภาคเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและการว่างงาน

ภาคตะวันออก ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ เศรษฐกิจทั่วไปและค่าครองชีพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาสินค้าและการว่างงาน

ภาคใต้ ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและการว่างงาน

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

2. ต้องการให้รัฐบาลผลักดันและกระตุ้นมาตรการต่างๆอย่างต่อเนื่อง สร้างงานให้กับประชาชนเพื่อลดปัญหาการว่างงาน

3. แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหายาเสพติดและปัญหาอาชญากรรม

4. ผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น ส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อผลผลิตที่มีมาตรฐานซึ่งนำไปสู่การขยายตลาดการส่งออกในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก และดูแลนโยบายประกันราคาสินค้าการเกษตรให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์สูงสุด

5. สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองให้มั่นคง และหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยก ปลูกจิตสำนึกสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ

6. แก้ไขปัญหาการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

---------------------------------------

หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บ้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อ้อมูลย้อ้อนหลังทุกเดือนซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไปการอ่านค่าดัชนี

ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้

  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
ภาคผนวก

1. การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ที่แต่ละบุคคลได้รับ โดยใช้หลักการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็นการกำหนดรายได้ของประชากรซึ่งใช้ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มอาชีพดังนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน กำลังศึกษา เกษตรกร รับจ้างรายวัน/รับจ้าง พนักงานเอกชนนักธุรกิจ และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

2. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นอำนาจซื้อที่เกิดขึ้นจริงของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ