รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศประจำ เดือนกุมภาพันธ์ 2553

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 3, 2010 14:39 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศประจำ เดือนกุมภาพันธ์ 2553

กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2553

โดยสรุป

จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยคำนวณเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ สรุปผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2553

ในปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ดัชนีราคาเท่ากับ 161.4 และเดือนมกราคม 2553 ดัชนีราคาเท่ากับ 159.6

2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนมกราคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 1.1

2.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้นร้อยละ 11.8

2.3 เฉลี่ยเดือน (มกราคม - กุมภาพันธ์) 2553 เทียบกับช่วงเดียวกัน (มกราคม - กุมภาพันธ์ 2552) ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 11.6

3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เทียบกับเดือนมกราคม 2553 โดยเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 6.9 เป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.8 และ 0.1 ตามลำดับ

3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 6.9 (เดือนมกราคม 2553 สูงขึ้น ร้อยละ 4.8) เป็นการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตรร้อยละ 8.6 สินค้าสำคัญที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ พืชผัก เช่น แตงกวา มะเขือ กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดหอม ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี ผลไม้ เช่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า สับปะรด ส้มเขียวหวาน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดทำให้พืชผักเสียหายมีปริมาณผลผลิตน้อย ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนราคาสูงขึ้นตามความต้องการ สำหรับพืชไร่ พืชสวนสำคัญๆ ที่มีราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะพร้าวผลแก่ ยางพารา โดยเฉพาะยางพาราราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ นอกจากนี้สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ เช่น สุกรมีชีวิต ไก่สด ไข่ไก่ ไข่เป็ด ปลาและสัตว์น้ำ ราคาสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ผลผลิตการเกษตรประเภทข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลังสด อ้อย ผลปาล์มสด และถั่วเหลือง ราคาชะลอตัวลง

3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.8 (เดือนมกราคม 2553 สูงขึ้น ร้อยละ 2.1) จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว แร่ตะกั่ว แร่สังกะสี และแร่ดีบุก เป็นสำคัญ

3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.1 (เดือนมกราคม 2553 สูงขึ้น ร้อยละ 1.4) สาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา และน้ำมันก๊าด ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายชนิดปรับราคาลดลง เช่นอุตสาหกรรมน้ำมันพืชบริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์จากโรงสี และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ประเภทเครื่องประดับ และทองรูปพรรณ สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมอาหารสดและแปรรูป เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ปลาทูน่ากระป๋อง ปูกระป๋อง น้ำแข็ง และรวมถึงผลิตภัณฑ์รำข้าวขาว เม็ดพลาสติก ท่อน้ำ กระสอบพลาสติก ถุงพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้น ร้อยละ 11.8 สาเหตุจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 22.6 ตามการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 25.7 สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 16.2 ผลิตภัณฑ์จากป่า ร้อยละ 3.8 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 1.3 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 9.9 จากการสูงขึ้นของราคาปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 9.4 จากการสูงขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ร้อยละ 32.5 ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ร้อยละ 41.7 เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ร้อยละ 12.8 ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ ร้อยละ 10.5 และสินค้าอุตสหกรรมอื่น ๆ ร้อยละ 8.8

5. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเฉลี่ย เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2553 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2552 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 11.6 โดยดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 20.8 จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 23.1 สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 14.6 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 7.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 11.2 จากการสูงขึ้นของราคาปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 9.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าอุตสาหกรรมประเภทปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2553 สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตามภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกและของประเทศ โดยภาคการค้า การผลิต การบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรมโดยรวมปรับตัวสูงขึ้น เกือบทุกสาขาอุตสาหกรรม โดยพิจารณาจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลง ปริมาณการจำหน่ายรถบรรทุกเล็ก รถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นตามลำดับ ภาคการก่อสร้างปริมาณปูนซีเมนต์ และเหล็กขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาลที่ช่วยส่งเสริม และสนับสนุนให้ภาคการค้า การผลิต และการบริโภคในประเทศให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ตารางดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศและอัตราเปลี่ยนแปลง

แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA)

กุมภาพันธ์ 2553

2543 = 100

 หมวด                             สัดส่วน                   ดัชนี                              อัตราเปลี่ยนแปลง
                                   น้ำหนัก    ก.พ.53   ม.ค.53    ก.พ.52   ม.ค.-    ก.พ.53/  ก.พ.53/   ม.ค.-ก.พ.53/

ก.พ.53 ม.ค.53 ก.พ.52 ม.ค.-ก.พ.52/

ดัชนีรวม                             100.0     161.4    159.6    144.4    160.5      1.1     11.8         11.6
ผลผลิตเกษตรกรรม                      20.2     344.9    322.7    281.4    333.8      6.9     22.6         20.8
 ผลผลิตการเกษตร                      16.8     483.5    445.1    384.6    464.3      8.6     25.7         23.1
 สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์                    1.9     191.0    184.7    164.4    187.9      3.4     16.2         14.6
 ผลิตภัณฑ์จากป่า                         0.1     117.4    116.5    113.1    117.0      0.8      3.8          3.0
 ปลาและสัตว์น้ำ                         1.5     104.9    112.0    103.6    108.5     -6.3      1.3          7.2
ผลิตภัณฑ์จากเหมือง                       2.3     146.1    148.8    132.9    147.5     -1.8      9.9         11.2
 ลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ         1.5     142.6    144.4    133.2    143.5     -1.2      7.1          8.1
 แร่โลหะและแร่อื่น ๆ                     0.8     174.7    179.8    150.7    177.3     -2.8     15.9         17.8
ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม                     77.5     141.2    141.4    129.1    141.3     -0.1      9.4          9.5
 ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ         16.5     174.2    173.4    157.7    173.8      0.5     10.5         10.6
 สิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ                   7.2     108.2    107.7    103.5    108.0      0.5      4.5          4.0
 หนังฟอก ผลิตภัณฑ์หนังและรองเท้า           1.6     102.6    102.9    103.0    102.8     -0.3     -0.4         -0.5
 ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้                    0.6     147.5    147.4    143.7    147.5      0.1      2.6          2.4
 เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์      1.6     106.9    106.7    102.3    106.8      0.2      4.5          4.0
 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม                      9.7     207.3    210.9    156.4    209.1     -1.7     32.5         32.3
 เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี                    3.9     129.2    126.7    114.5    128.0      2.0     12.8         12.1
 ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก                  4.2     159.3    158.8    112.4    159.1      0.3     41.7         41.4
 ผลิตภัณฑ์อโลหะ                         2.0     126.9    126.9    125.5    126.9      0.0      1.1          1.0
 โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ            3.7     165.2    165.9    167.9    165.6     -0.4     -1.6         -2.6
 เครื่องจักร ส่วนประกอบและอุปกรณ์          2.8     112.8    112.4    114.7    112.6      0.4     -1.7         -1.8
 เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์  10.8     101.1    101.2    100.7    101.2     -0.1      0.4          0.1
 ยานพาหนะและอุปกรณ์                    5.3     109.2    109.2    108.3    109.2      0.0      0.8          0.8
 สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ                   7.6     217.7    221.0    200.1    219.4     -1.5      8.8         13.0


ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ