รายงานการวิเคราะห์ภาวะราคาสินค้าและเศรษฐกิจของไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 3, 2010 16:26 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

**ภาวะราคาสินค้าและการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาฯ** ดัชนีราคาผู้บริโภคเริ่มรายงานโดยใช้ทศนิยม 2 ตำแหน่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยในเดือนมกราคม 2553 เท่ากับ 106.29

ผลการจัดทำดัชนีราคาต่างๆ ของสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า
  • ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนมกราคม 2553 เทียบกับเดือนมกราคม 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้นร้อยละ 0.6
  • ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมกราคม 2553 เทียบกับเดือนมกราคม 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาดัชนีราคาผู้ผลิตสูงขึ้นเพียงร้อยละ 2.0
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมกราคม 2553 เทียบกับเดือนมกราคม 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนแรก หลังจากที่ติดลบต่อเนื่องติดต่อกันนานถึง 13 เดือน สาเหตุมาจากการสงขึ้นของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.4

จากข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมกราคม 2553 ชี้ให้เห็นว่าภาวะราคาสินค้าของไทยในปี 2553 น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์การเติบโตของดัชนีราคาผู้บริโภคว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 3.0 — 3.5 ภายใต้สมมุติฐานว่าราคาน้ำมันอยู่ระหว่าง 70 — 80 เหรียญต่อบาร์เรล และ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 30 — 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเพิ่มสูงขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภค และเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ได้แก่

1. ราคาน้ำมัน

เนื่องจากผลของราคาน้ำมันที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน เปรียบเทียบกับราคาน้ำมันในปัจจุบันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศไทยปรับตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเป็นบวกตลอดทั้งปี แต่อาจจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยในไตรมาสที่ 3

2. ราคาสินค้าเกษตร

ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นมากตามราคาในตลาดโลก และการดำเนินมาตรการของภาครัฐในเรื่องการประกันรายได้เกษตรกร ทำให้รายได้เกษตรกรขยายตัวเป็นอย่างมาก การบริโภคของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเป็นบวกมากขึ้น

** ภาวะเศรษฐกิจ **

เศรษฐกิจของไทยในเดือนมกราคม 2553 แสดงการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ตัวเลขการบริโภคในประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นทั้งในส่วนของราคาสินค้า และปริมาณสินค้า สะท้อนความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มากขึ้น โดยพิจารณาจาก

1) การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวในอัตราเร่ง จาก 39.49 พันล้านบาท ในเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็น 40.37 พันล้านบาท ในเดือนธันวาคม 2552 ส่งผลให้ในไตรมาส 4/2552 ยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวก สะท้อนว่าเศรษฐกิจกลับมามีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

2) รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ขยายตัวในอัตราเร่ง จากร้อยละ 2.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นร้อยละ 13.6 ในเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งสะท้อนกำลังซื้อของคนในภูมิภาคที่ปรับตัวสูงขึ้น

3) ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และสินค้าอุปโภคบริโภคนำเข้า ขยายตัวในอัตราเร่งอย่างมาก ในเดือนธันวาคม 2552 จำหน่ายรถยนต์นั่งได้สูงถึง 30,431 คัน ส่วนรถจักรยานยนต์จำหน่ายได้ 154,000 คัน ซึ่งสอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นมาก

4) ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวสูงขึ้นในรอบปี จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จัดทำโดยกระทรวงพาณิชย์ สูงถึงระดับ 20.7 เป็นระดับที่สูงที่สุดในปี 2552 และในเดือนมกราคม 2553 มีค่าเพิ่มขึ้นที่ระดับ 25.1 สะท้อนว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นลำดับ

ปัจจัยด้านบวกที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัว ได้แก่

1) เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกซึ่งเป็นตัวหลักสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น เห็นได้จากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกลุ่ม 3G (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น) ที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่แม้จะมีปัญหาเรื่องเงินฝืดและการจ้างงาน ก็ได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่มีมูลค่าสูงถึง 2.74 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้คาดว่าในปี 2553 เศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นบวก เมื่อเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักเริ่มขยายตัว จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวด้านการส่งออกของไทย ซึ่งจะทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการจ้างงานดีขึ้นตามลำดับ

2) นโยบายภาครัฐสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งที่มีมูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านบาท หากสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายของวงเงินอนุมัติ ก็น่าจะช่วยให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคง นอกจากนี้ยังมีนโยบายช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่น โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่อาจช่วยบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชน ทำให้การบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ปัจจัยด้านลบที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่

1) ปัญหาโครงการมาบตาพุด แม้ว่าศาลปกครองจะอนุญาตให้ 11 โครงการ จาก 76 โครงการที่เคยถูกระงับไว้สามารถดำเนินการได้ แต่ปัญหายังคงมีตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาก๊าซรั่วที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้จะกระทบต่อการลงทุนในปัจจุบัน และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะมาลงทุนในอนาคต

2) สถานการณ์ทางการเมืองยังไร้เสถียรภาพ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจได้เต็มที่ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยวในระยะยาว

** ภาวะการส่งออก **

กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศตัวเลขมูลค่าการส่งออกล่าสุดเดือนธันวาคม 2552 สูงขึ้น ร้อยละ 26.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนพฤศจิกายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 17.2) ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลทำให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ได้แก่ ความต้องการในตลาดโลกที่ฟื้นตัวมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าของตลาดส่งออกสำคัญ ประกอบกับความสำเร็จจากการดำเนินมาตรการเร่งรัดผลักดันการส่งออกร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการมาโดยตลอด และต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี

สำหรับดัชนีราคาส่งออกเดือนธันวาคม 2552 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 11.0 เป็นการปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ในรอบปี สาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้มีคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศเข้ามาเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะสูงขึ้นในปี 2553 สอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก จึงส่งผลให้สินค้าส่งออกสำคัญที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ร้อยละ 60.4 (น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว แร่สังกะสี) และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 42.3 (ข้าว ยางพารา)

จากภาวะเศรษฐกิจ และดัชนีราคาเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวที่เริ่มจะชัดเจนและมั่นคงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปัจจัยด้านการส่งออกที่เป็นปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และสัญญาณด้านการบริโภคของประชาชนที่เริ่มจะขยายตัวได้ดีขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2553 มีค่า 25.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาซึ่งมีค่า 20.7 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงมีความต้องการ และกำลังซื้อมากขึ้น อย่างไรก็ตามในด้านของการลงทุนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่ก็สามารถปรับตัวได้ดีขึ้นตามลำดับ ส่วนด้านการใช้จ่ายของภาครัฐที่เป็นอีกแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็สามารถใช้จ่ายได้เกินเป้าเล็กน้อย แต่ยังต้องเร่งเบิกจ่ายให้มากขึ้นทั้งรายจ่ายในงบประมาณ และรายจ่ายตามโครงการไทยเข้มแข็ง ที่พบว่าขณะนี้เบิกจ่ายได้เพียง 37 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.7 ของวงเงินอนุมัติ ซึ่งถือว่ายังเบิกจ่ายได้น้อย

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มปรับตัวได้ดี แต่ยังคงต้องอาศัยปัจจัยผลักดัน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ภาครัฐจึงควรส่งเสริมหรือสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งจากในและต่างประเทศ ในการลดต้นทุนการผลิตที่อาจเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน ประกอบกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็น เช่น ระบบขนส่งมวลชน ระบบน้ำ ระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น เนื่องจากการก่อสร้างโครงการเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและการจ้างงานอย่างเต็มที่ นอกจากนี้การพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต และการพัฒนาฝีมือแรงงาน ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขัน และสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้มั่นคงในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความผันผวนเช่นทุกวันนี้

(จากข้อมูลดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เดือนมกราคม 2553)

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ