รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน เมษายน 2553

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 10, 2010 12:59 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

วิกฤติการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2553 จำนวน 1,788 ราย ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมของทั้งประเทศปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 19.3 เป็น 15.6 โดยดัชนีมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมที่ยืดเยื้อ เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มคนไทยที่แตกต่างกันทางความคิด ภาคท่องเที่ยวและภาคบริการได้รับความเสียหายและผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งสร้างความกังวลให้กับประชาชนและนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนสร้างความเสียหายแก่ภาพพจน์ของประเทศ อย่างไรก็ตามราคาสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ยางพาราและมันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนของปีที่ผ่านมา ค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 10.6 เป็น 15.6 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกของไทยยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ถ้าพิจารณาในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีการปรับตัวลดลงจาก 14.1 เป็น 11.8 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะการชุมนุมที่ยืดเยื้อ ทำให้ทั้งประชาชนและนักลงทุนชะลอการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุน เนื่องจากไม่มั่นใจว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นไปในทิศทางใด

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3เดือน) ปรับตัวลดลงจาก 22.8 เป็น 18.2 เนื่องจากประชาชนยังคงมีความไม่มั่นใจในปัญหาการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะการชุมนุมที่ยืดเยื้อ

เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศของเดือนเมษายน 2553 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน(แก๊สโซฮอล์ 95) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาลิตรละ 33.14 บาท เป็น 33.84 บาท ส่วนน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาลิตรละ 27.59 บาท เป็น 28.69 บาท

เมื่อพิจารณาสัดส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรากฏว่าในเดือนเมษายน 2553
  • สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกว่า “ดีขึ้น” ร้อยละ 10.5 “ไม่ดี” ร้อยละ 60.2
  • สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 12.5 “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 52.6
  • ภาวการณ์หางานทำในปัจจุบันประเมินว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 6.7 “หางานยาก” ร้อยละ 70.0
  • ภาวการณ์หางานทำในอนาคตคาดว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 7.1 “หางานยาก” ร้อยละ 65.2
  • รายได้ในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 11.9 และ “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 34.7

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2553 ปรากฏว่า ประชาชนในทุกภาคยังขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น (เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา) คือ ภาคใต้ จาก20.2 เป็น 31.1 เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราปรับสูงขึ้นมาก แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ปริมาณน้ำยางมีน้อยกว่าปกติ

ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 10.2 เป็น 9.3 ภาคกลาง จาก 20.7 เป็น 15.7 ภาคเหนือ จาก 16.6 เป็น 11.8 ภาคตะวันออก จาก 27.0 เป็น 9.8 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 28.8 เป็น 15.9 เนื่องจากปัญหาความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาล ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อ และปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่

ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข เป็นดังนี้
                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   การว่างงาน   ค่าครองชีพ   เศรษฐกิจทั่วไป   คอรัปชั่น   ยาเสพติด
ประเทศไทย            16.1      16.2        12.4       13.0         12.5        8.3       6.1
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล       15.4      13.1        13.4       12.9         13.4        7.6       5.8
ภาคกลาง              17.2      18.2        12.4       13.1          9.6        8.9       7.5
ภาคเหนือ              15.7      17.0        11.9       12.2         14.3        8.8       6.9
ภาคตะวันออก           10.2      16.9        11.5       16.2         10.8       13.1       9.6
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   17.9      19.0        10.4       15.2         10.5        8.5       4.6
ภาคใต้                16.6      16.9        12.8       10.9         13.3        7.3       5.5

ผู้ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาน้ำมัน ราคาสินค้า ค่าครองชีพ เศรษฐกิจทั่วไป การว่างงาน คอรัปชั่น และยาเสพติด ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังนี้

กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ การว่างงาน เศรษฐกิจทั่วไปและราคาน้ำมัน

ภาคกลาง ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาสินค้า และค่าครองชีพ

ภาคเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาสินค้า และเศรษฐกิจทั่วไป

ภาคตะวันออก ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ค่าครองชีพ และคอรัปชั่น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาสินค้า และค่าครองชีพ

ภาคใต้ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาสินค้า และเศรษฐกิจทั่วไป

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้สูงเกินไป และให้สอดคล้องกับรายได้ของประชาชน

2. ส่งเสริมการสร้างงานและสร้างอาชีพให้กับประชาชนและบัณฑิตจบใหม่

3. ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาหนี้นอกระบบ/ ผู้มีอิทธิพลเถื่อน และปัญหาการคอรัปชั่น

4. ดูแลนโยบายประกันรายได้ของเกษตรกรเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แท้จริงและเป็นธรรม

5. หาแนวทางยุติความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาการชุมนุมอย่างเร่งด่วน

6. ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้แรงงานมีรายได้ที่เพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากในปัจจุบัน

---------------------------------------

หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
การอ่านค่าดัชนี

ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้

  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
ภาคผนวก

1. การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ที่แต่ละบุคคลได้รับ โดยใช้หลักการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็นการกำหนดรายได้ของประชากรซึ่งใช้ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มอาชีพดังนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน กำลังศึกษา เกษตรกร รับจ้างรายวัน/รับจ้าง พนักงานเอกชน นักธุรกิจ และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

2. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นอำนาจซื้อที่เกิดขึ้นจริงของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-6553 Fax.0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ