รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน สิงหาคม 2553

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 5, 2010 16:17 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

การว่างงานมีแนวโน้มลดลง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2553 จำนวน 2,043 ราย ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมของทั้งประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 21.2 เป็น 22.1 ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในระดับต่ำ รวมทั้งยังระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยสะท้อนได้จากค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีความแน่นอน รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความกังวลให้กับประชาชนและนักลงทุน เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมของปีที่ผ่านมา ค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 10.2 เป็น 22.1 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐรวมทั้งการส่งออกที่เติบโตในระดับสูง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 13.5 เป็น 15.2เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มลดลง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3เดือน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 26.4 เป็น 26.7 เนื่องจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์การเมืองภายในประเทศกลับสู่สภาวะปกติ

เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศของเดือนสิงหาคม 2553 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน(แก๊สโซฮอล์ 95) ปรับตัวลดลงจากราคาลิตรละ 31.84 บาท เป็น 30.64 บาท ส่วนน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงจากราคาลิตรละ 27.39 บาท เป็น 26.59 บาท

เมื่อพิจารณาสัดส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรากฏว่าในเดือนสิงหาคม 2553
  • สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกว่า “ดีขึ้น” ร้อยละ 14.4 “ไม่ดี” ร้อยละ 58.6
  • สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 18.4 “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 42.5
  • ภาวการณ์หางานทำในปัจจุบันประเมินว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 7.7 “หางานยาก” ร้อยละ 65.0
  • ภาวการณ์หางานทำในอนาคตคาดว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 8.4 “หางานยาก” ร้อยละ 58.0
  • รายได้ในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 16.5 และ “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 28.0

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2553 ปรากฏว่า ประชาชนในทุกภาคยังขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น (เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา) คือ ภาคเหนือ จาก 20.0 เป็น 23.8 ภาคตะวันออก จาก 23.7 เป็น 35.8 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 18.4 เป็น 23.7 เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น ความต้องการยังขยายตัว แต่ผลกระทบจากภัยแล้งที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตลดลงมาก

ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 19.9 เป็น 13.1 ภาคกลาง จาก 19.0 เป็น 18.3 และภาคใต้ จาก 27.6 เป็น 25.5 เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ เช่น สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ

ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข เป็นดังนี้
                                                                                   หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน   การว่างงาน   ค่าครองชีพ   เศรษฐกิจทั่วไป   คอรัปชั่น   ยาเสพติด
ประเทศไทย            16.6      16.0       11.6       12.8          12.3        7.3      7.3
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล       16.1      15.2       10.2       14.1          12.7        7.4      8.2
ภาคกลาง              18.2      17.1       12.6       12.6          10.5        8.8      7.9
ภาคเหนือ              16.5      16.3       12.6       12.5          13.7        6.3      6.7
ภาคตะวันออก           14.1      18.6       13.0       12.4          14.6       11.0      5.3
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   16.8      14.8       11.8       12.3          10.3        7.8      6.9
ภาคใต้                16.8      16.0       11.2       12.3          12.7        5.4      7.6

ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ เศรษฐกิจทั่วไป การว่างงาน คอรัปชั่น และยาเสพติด ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังนี้

กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคกลาง ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและการว่างงาน/ค่าครองชีพ

ภาคเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและเศรษฐกิจทั่วไป

ภาคตะวันออก ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ เศรษฐกิจทั่วไปและราคาสินค้า

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ภาคใต้ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและเศรษฐกิจทั่วไป

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ปรับค่าจ้างและค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

2. เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศ และสร้างความเท่าเทียมกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

3. ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาหนี้นอกระบบ/ ผู้มีอิทธิพลเถื่อน และปัญหาการคอรัปชั่น

4. ส่งเสริมการเกษตร ดูแลราคาสินค้า ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แท้จริงและเป็นธรรม รวมทั้งพัฒนาระบบชลประทานอย่างเป็น รูปธรรม ให้ความรู้และกระตุ้นให้เกษตรกรเข้าใจถึงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง

5. แก้ไขปัญหาระดับชุมชนและรากหญ้าเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

---------------------------------------

หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือนซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
การอ่านค่าดัชนี

ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้

  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
ภาคผนวก

1. การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ที่แต่ละบุคคลได้รับ โดยใช้หลักการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็นการกำหนดรายได้ของประชากรซึ่งใช้ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มอาชีพดังนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน กำลังศึกษา เกษตรกร รับจ้างรายวัน/รับจ้าง พนักงานเอกชน นักธุรกิจ และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

2. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นอำนาจซื้อที่เกิดขึ้นจริงของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-6553 Fax.0-2507-5806 www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ