เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) (การยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล
สำหรับเรือที่เดินทางไป-กลับในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย)
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลสำหรับเรือที่เดินทางไป-กลับในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) (การยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลสำหรับเรือที่เดินทางไป-กลับในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอและให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง
กระทรวงการคลังเสนอว่า
1. พื้นที่พัฒนาร่วมไทย — มาเลเซีย (Joint Development Area : JDA) เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลไทยและมาเลเซียได้จัดตั้งองค์กรร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและมาเลเซีย เพื่อสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติปิโตรเลียมร่วมกัน โดยมีหลักการในการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับอย่างเท่าเทียมกัน (50:50) ทั้งนี้ องค์กรร่วมฯ มีอำนาจทำสัญญาให้สิทธิสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมแก่บริษัทผู้ประกอบการได้ ภายใต้เงื่อนไขของระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract)
2. เนื่องจากพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นพื้นที่อยู่ในทะเล ดังนั้น การสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว จึงต้องอาศัยฐานปฏิบัติการสนับสนุนการประกอบกิจการปิโตรเลียม (Supply Base) ที่อยู่บนฝั่ง เพื่อขนส่งวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมไปยังพื้นที่พัฒนาร่วมฯ โดยใช้เรือสนับสนุนการปฏิบัติการ (Supply Boat) ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงขนส่งของดังกล่าว โดยเรือดังกล่าวเป็นเรือขนาดใหญ่ที่มีขนาดเกินห้าร้อยตันกรอสส์
3. มาตรา 102 (4) แห่งพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ได้ให้สิทธิรับคืนหรือยกเว้นภาษีเรือที่มีขนาดเกินกว่าห้าร้อยตันกรอสส์ ซึ่งพนักงานศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้ว แต่เนื่องจากพื้นที่ JDA เป็นพื้นที่ร่วมระหว่างไทยและมาเลเซีย การใช้มาตรา 102 (4) จึงไม่เหมาะสม เนื่องจากหากในอนาคตประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย มีกรณีพิพาทในเรื่องพื้นที่พัฒนาร่วมฯ เกิดขึ้น อาจทำให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบมาเลเซีย และปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เฉพาะที่ใช้เติมเรือเดินทางไปยังเขต JDA ประมาณ 20.51 ล้านลิตรต่อปี
4. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยมีฐานสนับสนุนการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในฝั่งไทย และส่งผลให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น ธุรกิจการซ่อมบำรุงเรือ ธุรกิจการบริหารเรือ และเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น จึงเห็นควรยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในเรือเดินทางไป-กลับในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ยกเว้นภาษีสรรพสามิต สำหรับน้ำมันดีเซล ดังนี้
ประเภทที่ รายการ อัตราภาษี อัตราตามพระราชบัญญัติ อัตราใหม่
ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527
น้ำมันดีเซลที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในเรือเดินทางไป-
1.05 กลับในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียตาม ร้อยละ 34 ยกเว้นภาษี
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
2. แนวทางของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในเรือเดินทางไป-กลับในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ดังนี้
(1) การขอรับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ใช้ในการเดินทางไป-กลับในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ควรมีการตรวจสอบปริมาณน้ำมันที่ขอยกเว้นภาษีสรรพสามิตเทียบระยะทางไป-กลับจากชายฝั่งถึงแปลงสำรวจต่างๆ ในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย โดยหากมีปริมาณการใช้น้ำมันเกินกว่าปริมาณที่คำนวณได้ตามระยะทางในอัตราที่กำหนด ให้ยกเว้นภาษีเฉพาะตามปริมาณที่ใช้จริงแต่ไม่เกินปริมาณที่คำนวณได้
(2) กรณีน้ำมันดีเซลที่ขอยกเว้นภาษีเกิดการสูญหายหรือขาดจำนวนไปจากที่ได้ระบุไว้ในคำขอเกินกว่าร้อยละ 0.5 ที่กำหนด ให้ผู้ประกอบกิจการต้องเสียภาษีสำหรับจำนวนน้ำมันที่สูญหายหรือขาดจำนวนไปพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในอัตราที่ใช้บังคับ
(3) ผู้ประกอบกิจการต้องทำบัญชีรับ-จ่ายน้ำมันที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงที่ขอยกเว้นภาษีในเรือเดินทางไป-กลับในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียและระยะทางไป-กลับ จากชายฝั่งถึงแปลงสำรวจต่างๆ ในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--