ขอความเห็นชอบชดเชยการขาดทุนจากการจำหน่ายปุ๋ยเคมี โครงการจัดหาปุ๋ยเคมีนำเข้าจากต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 14:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการการชดเชยการขาดทุนจากการจำหน่ายปุ๋ยเคมี โครงการจัดหาปุ๋ยเคมีนำเข้าจากต่างประเทศ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยแนวทางการดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ที่ให้ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ควรเร่งจำหน่ายปุ๋ยเคมีที่ยังเหลือโดยด่วนเป็นอันดับแรกก่อน ตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้ว จึงให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ตรวจสอบปิดบัญชีผลการขาดทุน และขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง

2. เห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการจัดหาปุ๋ยเคมีนำเข้าจากต่างประเทศ จากสิ้นสุดวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2553

ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการจัดหาปุ๋ยเคมี รวมทั้ง การกำหนดระดับราคาปุ๋ยเคมีของโครงการให้ชัดเจนรอบคอบ แล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รายงานว่า

1.1 จากมติคณะรัฐมนตรี (6 พฤษภาคม 2551) กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) กู้เงินปลอดดอกเบี้ยไปดำเนินการจัดหาปุ๋ยเคมีนำเข้าจากต่างประเทศและจำหน่ายให้กับสถาบันเกษตรกรในราคาถูกกว่าตลาด ซึ่งจะต้องส่งเงินคืนให้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรภายในสิ้นสุดสัญญาวันที่ 29 พฤษภาคม 2552

1.2 คณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกรในการประชุม ครั้งที่ 6/2552 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552 มีมติให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ขยายระยะเวลาดำเนินงานโครงการฯ จากวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ออกไปจนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 และให้เร่งจำหน่ายปุ๋ยที่เหลือให้หมด โดยให้ ชสท. ประสานกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จำหน่ายให้กับกลุ่มเกษตรกรโดยตรง

1.3 คณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกรในการประชุม ครั้งที่ 6/2553 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 มีมติเห็นชอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ขยายระยะเวลาโครงการและชำระเงินคืนกองทุนฯ โครงการฯ จากสิ้นสุด ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2553 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

2. ผลการดำเนินงานตามโครงการการนำเข้าปุ๋ยยูเรียในปี 2551 ผู้นำเข้าในประเทศได้นำเข้าปุ๋ยยูเรียในปริมาณมากกว่าทุกปี สาเหตุจากความต้องการใช้ที่มากขึ้นของเกษตรกรเนื่องจากราคาผลิตผลที่จำหน่ายในต้นปี 2551 ราคาสูงขึ้นและมีการขยายพื้นที่ปลูกพืช แต่ราคาปุ๋ยในประเทศมีการปรับเพิ่มขึ้นตลอดเวลาตามตลาดโลก จากตันละ 14,400 บาท ในเดือนมกราคม เป็น 26,500 บาท ในเดือนกันยายน ทำให้เกษตรกรเริ่มขาดกำลังซื้อลดการใช้ปุ๋ยและหันไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น แต่ผู้นำเข้ากลับเพิ่มปริมาณการนำเข้าซึ่งเป็นการเก็งกำไร ทำให้ผู้นำเข้ามีปุ๋ยยูเรียที่อยู่ในสต็อกในช่วงเดือนตุลาคมอยู่ประมาณ 300,000-400,000 ตัน ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีต้นทุนนำเข้าที่สูงมาก ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 26,500-27,000 บาท และจำหน่ายให้เกษตรกรในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงเมื่อเทียบกับราคาที่ลดลงในตลาดโลก

          3. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาแพงจึงมีมติให้มีการนำเข้าปุ๋ยยูเรียครั้งแรก จำนวน 10,000 ตัน จำหน่ายให้ถึงมือเกษตรกรปลายทางในเดือนพฤศจิกายน 2551 ทำให้ภาคเอกชนมีการปรับตัวลดราคาปุ๋ยจาก 27,000 บาท/ตัน ลงเหลือ 19,800 บาท/ตัน แต่ราคาปุ๋ยก็ยังสูงกว่าปุ๋ยของโครงการฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นกล่าวว่าจะมีการนำเข้าปุ๋ยยูเรียอย่างต่อเนื่องจนครบ 100,000 ตัน ทำให้ภาคเอกชนปรับราคาปุ๋ยลงเหลือ 19,000 บาท/ตัน แต่ยังแพงกว่าปุ๋ยของโครงการฯ เมื่อมีการนำเข้ารอบที่ 2 จำนวน 10,000 ตัน โครงการฯ ได้ลดราคาลงจาก 16,500 บาท เหลือ 15,800 บาท โดยคืนเงินให้ผู้ซื้อในรอบแรก ตันละ 700 บาท ภาคเอกชนได้ลดราคาลงไปอีก เพื่อเป็นการรักษากำลังซื้อของเกษตรกรไว้และยับยั้งการนำเข้าของภาครัฐโดยยอมขาดทุนเพื่อระบายสต็อกที่มีอยู่ ซึ่งผลการนำเข้าปุ๋ยยูเรียของ          รัฐบาลทำให้เกษตรกรได้ซื้อปุ๋ยที่นำเข้าในราคาที่เป็นจริงในท้องตลาด ประหยัดเงินของเกษตรกรโดยรวมไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

4. ขณะนี้มีปุ๋ยคงเหลืออยู่อีก 11,185.75 ตัน สภาพภาชนะบรรจุมีบางกระสอบที่มีฝุ่นจับและกระสอบล่างปุ๋ยอาจมีการจับตัวแน่น เนื่องจากการกดทับ ซึ่งไม่ควรเก็บไว้นานกว่านี้มากนัก คุณภาพทางเคมียังได้มาตรฐานอยู่ ต้นทุนของปุ๋ยสูงขึ้นเนื่องจากต้องเสียค่าฝากเก็บทุกเดือน แต่ปัญหาอยู่ที่ต้นทุนของปุ๋ยโครงการฯ ในขณะนี้สูงกว่าท้องตลาด โดยราคาตลาดขณะนี้อยู่ประมาณ 11,300-12,000 บาท ณ หน้าโรงงาน ซึ่งถ้าจำหน่ายให้เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรในราคาที่ 10,300 บาท รัฐชดเชยตันละ 4,448.87 บาท เป็นเงิน 50,131,958.78 บาท ชสท.ก็จะสามารถส่งเงินคืนโครงการฯ ได้ตามเป้าหมาย โครงการฯ จะขาดทุนประมาณ 50 ล้านบาท แต่ผลที่เกษตรกรได้รับจากโครงการที่ผ่านมามากกว่า 3,000 ล้านบาท อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าภาครัฐไม่ได้ทอดทิ้งเกษตรกรได้มีการช่วยเหลือเกษตรกรมิให้ต้องแบกภาระจากราคาปุ๋ย ซึ่งสูงกว่าความเป็นจริงให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยในราคาที่เหมาะสม และยังเป็นนโยบายที่ใช้เงินในการแทรกแซงราคาปุ๋ยครั้งนี้ในจำนวนที่น้อยมาก แต่บังเกิดผลดีกับเกษตรกรอย่างมาก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ