ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง การพิจารณาโครงการย้ายองค์การสะพานปลาฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 14:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (องค์การสะพานปลา) รับเรื่องโครงการย้ายองค์การสะพานปลาฯ ไปพิจารณาศึกษาจัดทำรายละเอียดแผนงานโครงการที่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ โดยพิจารณาให้ครอบคลุมถึงกรณีที่อาจจะต้องดำเนินการตามข้อกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และระเบียบว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2522 เป็นต้น แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รายงานว่า

1. หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 9 ธันวาคม 2534 หน่วยงานของกรมประมง ได้แก่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ และกองประมงทะเลได้ย้ายไปอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางรัฐบาลขณะที่องค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นถูกยุบเลิกตั้งแต่ 1 มกราคม 2542 ส่วนองค์การสะพานปลาได้พยายามดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจาก

1.1 ไม่มีเอกชนสนใจเข้าพัฒนาพื้นที่เดิมและรับผิดชอบในการจัดหาพื้นที่พร้อมก่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่ ตลอดจนจ่ายค่าชดเชยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการโยกย้ายตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้

1.2 มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมีรายละเอียด และเงื่อนไขหลายประการที่ไม่เป็นปัจจุบัน อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากเดิมเป็นส่วนใหญ่ทำให้การปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ไม่สามารถกระทำได้

1.3 ที่ดินบริเวณที่ตั้งของสะพานปลากรุงเทพปัจจุบันเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งองค์การสะพานปลาเช่าใช้ประโยชน์มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์การสะพานปลาในปี 2496 เนื้อที่ 8 ไร่ 29 ตารางวา แต่ผลจากมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นทำให้กรมธนารักษ์ไม่ต่อสัญญาเช่าระยะยาวให้องค์การสะพานปลามาตั้งแต่ปี 2538 ทำให้องค์การสะพานปลาไม่สามารถดำเนินโครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพตามแผนที่กำหนดไว้ได้

2. การปรับปรุงสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลาเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการส่งออกสินค้าประมงซึ่งมูลค่าเกือบ 200,000 ล้านบาท ในแต่ละปี โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรปได้มีหนังสือลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 เรื่องการปรับปรุงมาตรฐานสะพานปลา/ท่าเทียบเรือประมงเนื่องจากผลกระทบ IUU (IIIegal,Unreported and Unregulated) แจ้งความเห็นว่า กษ. ควรกำหนดโครงการเร่งด่วนในการปรับปรุงสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงให้พร้อม เนื่องจากสหภาพยุโรปถือว่าสะพานปลา/ท่าเทียบเรือประมงเป็นจุด critical control point ของห่วงโซ่การผลิตสินค้าประมง หากไม่ได้มาตรฐานอาจส่งผลต่อการระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากไทยได้

3. องค์การสะพานปลามีแผนจะพัฒนาสะพานปลากรุงเทพให้เป็นตลาดกลางสัตว์น้ำที่ทันสมัยพร้อมธุรกิจต่อเนื่อง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจรภายใต้แนวคิด “ตลาดกลางสัตว์น้ำคุณภาพแห่งกรุงเทพมหานคร” โดยมีรายละเอียดในการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ ดังนี้

3.1 ตลาดกลางสัตว์น้ำทันสมัย (Modern Wholesale Market) ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัยและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับสินค้าสัตว์น้ำคุณภาพสูงซึ่งผ่านการคัดเลือกแล้ว

3.2 ตลาดขายปลีกสินค้าสัตว์น้ำคุณภาพ (Fish Market Q-Mart) เพื่อจำหน่ายอาหารทะเลที่สด สะอาด ให้กับประชาชน

3.3 ศูนย์แสดงสินค้าอุตสาหกรรมประมง (Factory Outlet) ทั้งสินค้าแปรรูป แช่แข็ง และสินค้าสัตว์น้ำส่งออก

3.4 อาคารสำนักงานทั้งในส่วนขององค์การสะพานปลาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ผู้ผลิต ผู้ส่งออก เป็นต้น

3.5 ภัตตาคารและร้านอาหารทะเล (Seafood Restaurant) เพื่อรองรับผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศการบริโภคอาหารทะเลที่มีคุณภาพ สด สะอาด

3.6 ศูนย์การเรียนรู้และศูนย์ข้อมูลทั้งในด้านวิธีการจับสัตว์น้ำ (Learning Center) อุปกรณ์เครื่องมือการจับสัตว์น้ำ การดูแลรักษาคุณภาพสัตว์น้ำ การตลาดสัตว์น้ำ วิธีการปรุงอาหารจากสัตว์น้ำ และประโยชน์ของการบริโภคสัตว์น้ำ

4. เพื่อดำเนินการตามแผนดังกล่าวองค์การสะพานปลาได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงกับสำนักงานตลาด กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 เพื่อร่วมกันจัดหางบประมาณลงทุน ออกแบบก่อสร้าง วางแผนการบริหารจัดการตลาดการหารายได้ และการแบ่งผลประโยชน์ ภายใต้กรอบภารกิจขององค์การสะพานปลาตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ. 2496 และภายใต้กรอบภารกิจของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องสำนักงานตลาด พ.ศ. 2534 โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

5. ภายใต้แผนงานดังกล่าวองค์การสะพานปลาจะต้องทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุระยะยาว 30 ปี กับกรมธนารักษ์ โดยได้มีการหารือในเบื้องต้นแล้ว กรมธนารักษ์แจ้งว่าองค์การสะพานปลาจะต้องขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 ก่อน กรมธนารักษ์จึงจะพิจารณาต่อสัญญาระยะยาวให้องค์การสะพานปลาต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ