การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 14:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอทั้ง 3 ข้อดังนี้

1. อนุมัติในหลักการแนวทางการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนไทย-พม่า

2. เห็นชอบการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย เพื่อขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

3. ในส่วนของการเร่งรัดคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ดำเนินการในเรื่องการใช้พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น ให้กระทรวงพาณิชย์รับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางการใช้พื้นที่รวมทั้งจำนวนพื้นที่ที่จำเป็น ต้องใช้ให้ชัดเจน เหมาะสม โดยให้รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมไปประกอบการพิจารณาด้วยและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ให้การนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทยหารือในรายละเอียดในเรื่องนี้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคู่ขนานกันไปด้วย เพื่อเสนอประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในคราวเดียวกันต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) รายงานว่า

1. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนฯ ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานใน พณ. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวทางและนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าชายแดนไทย-พม่า ให้เป็นไปอย่างบูรณาการต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และบรรลุผลตามมติคณะรัฐมนตรี

2. คณะกรรมการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนฯ ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 ครั้ง โดยมีมติเห็นชอบ ดังนี้

2.1 การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2

จุดก่อสร้างสะพานที่เหมาะสมอยู่บริเวณบ้านวังตะเคียนฝั่งไทย และบ้านเยปู ฝั่งพม่า ระยะทาง ประมาณ 22 กิโลเมตร อยู่ในฝั่งไทย 16 กิโลเมตร และอยู่ในฝั่งพม่า 6 กิโลเมตร ความยาวสะพานที่ข้ามแม่น้ำเมย ประมาณ 400 เมตร โดยกรมทางหลวงได้มีการสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดตำแหน่งสะพานพร้อมแนวทางหลวงเรียบร้อยแล้ว และได้ประมาณการค่าใช้จ่ายในการสร้างสะพานและถนน ประมาณ 600 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อขอหารือในรายละเอียดของโครงการร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพม่า ซึ่งได้เสนอให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2553 ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

2.2 การดำเนินโครงการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ

การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เห็นควรตั้งอยู่ระหว่างตำบลแม่ปะ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พื้นที่จำนวน 5,603 ไร่ 56 งาน ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเมย โดยต้องมีการเสนอขอยกเลิกป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี และมีรูปแบบการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนผสมกับนิคมอุตสาหกรรม

2.2.1 องค์ประกอบ : ศูนย์บริการนำเข้า-ส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) ศูนย์โลจิสติกส์ (Logistics Park) นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ

2.2.2 การลงทุน : เห็นควรให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโดยรัฐบาลให้การสนับสนุนด้านการส่งเสริมการลงทุน โดยให้สิทธิและประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น ภาษีอากร เงินลงทุนกับธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณดังกล่าว

2.2.3 รูปแบบการบริหารจัดการ : เห็นควรให้มีการบริหารจัดการอย่างอิสระ แต่ทั้งนี้ให้มีหน่วยงานรับผิดชอบกำกับดูแลและแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ

2.3 การขอใช้พื้นที่ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี

เนื่องจากพื้นที่ที่จะใช้ในการดำเนินการตามข้อ 2.1 และข้อ 2.2 นั้น เป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนั้น ต้องเสนอเข้าสู่คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพิกถอนป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี โดยจำแนกให้เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 และจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด แล้วมอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการต่อไป

3. พณ. ได้ขอความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) จังหวัดตาก และหอการค้าจังหวัดตาก ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ดังนี้

3.1 องค์ประกอบ : โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เขตนิคมอุตสาหกรรม ศูนย์ขนถ่ายและกระจายสินค้า (ICD) เขตปลอดอากร คลังสินค้าทัณฑ์บน ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) การตรวจปล่อยจุดเดียว (Single Services Inspection) ด่านศุลกากร

3.2 การลงทุน

3.2.1 จังหวัดตากเห็นควรให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนด้านการส่งเสริมการลงทุน โดยให้สิทธิและประโยชน์ด้านต่าง ๆ เช่น ภาษีอากร เงินลงทุนกับธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ การปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

3.2.2 สศช. เห็นว่า ภาครัฐควรสนับสนุนค่าพัฒนาระบบสาธารณูปโภคบางส่วน ซึ่งอาจดำเนินงานภายใต้หลักการจัดสรรงบประมาณสมทบ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2539 เรื่อง โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในภูมิภาคภายใต้แผนงานการกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากส่วนกลางออกสู่ภูมิภาค (โครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดย่อมจังหวัดขอนแก่น และโครงการนิคมอุตสาหกรรมสุราษฎร์ธานี ระยะที่ 1) โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ควรจัดสรรเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับการลงทุน

3.3 รูปแบบการบริหารจัดการ

3.3.1 สศช. สำนักงาน ก.พ.ร. และจังหวัดตาก เห็นพ้องกันที่จะให้มีการดำเนินงานเป็นขั้นตอน โดยเริ่มจากการจัดตั้งเป็นเขตอุตสาหกรรมหรือนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจังหวัดร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมศุลกากรสามารถดำเนินการจัดทำโครงการในเบื้องต้น ควบคู่กับการดำเนินการเตรียมการจัดตั้งองค์การมหาชน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน

3.3.2 หอการค้าจังหวัดตากเห็นควรจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 เพราะจะมีความคล่องตัวและเป็นอิสระในการบริหารจัดการ นอกจากนั้น ยังสามารถลงทุนหรือดำเนินกิจการที่แสวงหากำไรได้ ในขณะที่รูปแบบองค์การมหาชนค่อนข้างจะมีข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 เนื่องจากต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรเป็นหลัก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ