แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 14:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอทั้ง 3 ข้อดังนี้

1. เห็นชอบการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่เสนอ โดยให้เพิ่มผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีร่วมเป็นคณะกรรมการดังกล่าวด้วย

2. ให้คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนไปดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน

3. ให้คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง องค์กรบูรณาการการดำเนินการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน นโยบายในด้านการเงินการคลังที่เหมาะสม และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็วหลังเสร็จสิ้นภารกิจ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า ภาคเกษตรของไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมาโดยตลอดทิศทางการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตรโดยมีแนวทางพัฒนาที่สำคัญ คือ การปรับโครงสร้างภาคเกษตรเพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณค่าของสินค้าบนฐานความรู้ รวมทั้งสร้างความสมดุลและยั่งยืนในการพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการทำการเกษตรที่ยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการเกษตรที่ลดการใช้สารเคมี และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร โดยการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 มีประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ ดังนี้

1.1 ความจำเป็นในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน

เนื่องจากการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นระบบการทำการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับความสมดุลของมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ โดยจะช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรในไร่นาและสิ่งแวดล้อมลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกให้มากที่สุด และมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติและมีผลตอบแทนที่จะทำให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืน โดยมีรูปแบบสำคัญ 5 รูปแบบ ได้แก่ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร และเกษตรธรรมชาติ ทั้งนี้ การทำเกษตรกรรมยั่งยืน ต้องอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับการจัดการทรัพยากรที่มีความหลากหลายแตกต่างกันในหลายพื้นที่ รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน

1.2 ข้อจำกัดการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน

การดำเนินงานของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนในการผลักดันการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่ผ่านมายังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากประสบกับข้อจำกัดที่สำคัญ ดังนี้

1.2.1 กฎหมายและองค์กรที่รับผิดชอบ การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเริ่มได้รับความสำคัญตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 แต่ผลการดำเนินงานที่ผ่านมายังไม่สามารถขยายผลได้ในวงกว้าง โดยปัจจุบันมีการทำเกษตรกรรมยั่งยืนจำกัดอยู่ในเกษตรกรเฉพาะกลุ่ม ทั้งนี้ เป็นผลจากการขาดกลไกขับเคลื่อนในระดับนโยบายที่จะเป็นเครื่องมือในการผลักดันและดำเนินงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ โดยเฉพาะกฎหมายหรือระเบียบที่จะกำหนดให้มีการผลักดันเกษตรกรรมแบบยั่งยืนอย่างจริงจัง

1.2.2 หน่วยงานบูรณาการขับเคลื่อนเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน การดำเนินงานพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่ผ่านมามีเครือข่ายเกษตรกรและองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นผู้ที่มีบทบาทในการดำเนินงาน โดยร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เป็นหน่วยงานในการปฏิบัติ ซึ่งยังไม่สามารถสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางเท่าที่ควร ดังนั้น หากการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนมีหน่วยงานหรือองค์กรที่ดูแลรับผิดชอบโดยเฉพาะที่สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนทั้งในระดับชุมชนและระดับนโยบายก็จะช่วยให้สามารถขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนได้อย่างเป็นระบบ บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดได้

1.2.3 การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ผลจากการขาดกลไกการดำเนินงานและหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจน ทำให้การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องเป็นระบบ เนื่องจากไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้รับงบประมาณจากโครงการที่เกี่ยวข้องที่หน่วยงานภาครัฐดำเนินการจำนวนไม่มากนัก

1.3 ข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน

เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้เป็นไปอย่างเป็นระบบ และสามารถขยายผลได้อย่างเป็นรูปธรรม สศช. เห็นควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธานกรรมการ นายอำพน กิตติอำพน คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการอื่นอีก 5 คน และให้เพิ่มผู้แทนอีก 3 คน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ นางสาวทัศนีย์ วีระกันต์ สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรชุมชนและสังคม ผู้อำนวยการสำนักวางแผนการเกษตรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สศช. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการร่วม รวมองค์ประกอบคณะกรรมการจำนวนทั้งสิ้น 14 คน มีอำนาจหน้าที่ยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นการเฉพาะ โดยมีการกำหนดกลไกและองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรงในการดำเนินการสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน และจัดตั้งกองทุนและงบประมาณสนับสนุนการเรียนรู้และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงตามแนวทฤษฎีใหม่ ตลอดจนกำหนดกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในการดำเนินงานให้มีความชัดเจนและสามารถผลักดันไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และอำนาจหน้าที่อื่นอีก 3 ประการ

2. สศช. ได้ตรวจสอบองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ แล้วมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ