มาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 15:32 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง มาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ (โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด)

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 (1 ตุลาคม 2553)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานบริหารจัดการภายในวงเงินงบประมาณงบบุคลากรที่ได้รับจัดสรรประจำปี พ.ศ. 2554 จำนวน 112 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนผู้เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ (โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 (1 ตุลาคม 2553) ที่เหลือในโควตาจำนวน 750 ราย ให้ได้เข้าร่วมมาตรการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 (1 ตุลาคม 2553 ต่อไป) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ทั้งนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) รับความเห็นของสำนักงบประมาณที่เห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานควรพิจารณาบรรจุอัตราทดแทนผู้เกษียณตามโครงการดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน การเรียน การสอนและผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนไปดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานว่า

1. ศธ.โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับความเห็นชอบจาก คปร. ให้ดำเนินมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ (โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 (1 ตุลาคม 2553) และเห็นชอบให้มีจำนวนผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ได้จำนวน 12,867 ราย ไปแล้ว

2. สพฐ. ได้ดำเนินการตามมาตรการฯ ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คปร.กำหนด และเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยรวม จึงกำหนดเงื่อนไขให้มีการบรรจุทดแทนผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ทุกตำแหน่ง โดยมีระยะเวลาปฏิบัติราชการ แต่ด้วยข้อจำกัดของงบบุคลากรจึงได้อนุมัติให้ข้าราชการในสังกัดเข้าร่วมมาตรการฯ ได้เพียง 12,117 ราย และยังคงเหลือผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมมาตรการฯ อยู่ในโควตาอีก จำนวน 750 ราย ซึ่ง สพฐ.เห็นว่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและสนองความต้องการของข้าราชการกลุ่มนี้ รวมทั้งเพื่อประโยชน์แห่งการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นการบริการสำคัญของรัฐและส่งผลต่อคุณภาพของพลเมืองในอนาคตของประเทศ จึงเห็นควรอนุมัติให้ข้าราชการกลุ่มนี้ได้เข้าร่วมมาตรการฯ ด้วย ซึ่งส่งผลให้มีอัตราว่างถึง 12,867 อัตรา (ไม่มีผลกระทบกับจำนวนโควตาของผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจาก คปร.แต่อย่างใด) โดย สพฐ.ได้วิเคราะห์จากข้อมูล 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งหากดำเนินการได้จะมีผลดีมากกว่าผลเสียและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ ดังนี้

2.1 สามารถเกลี่ยอัตรากำลังจากโรงเรียนที่มีครูเกินเกณฑ์ไปยังโรงเรียนที่มีครูต่ำกว่าเกณฑ์ได้ทันทีไม่ยุ่งยากเหมือนการเกลี่ยอัตรากำลังที่มีผู้ครองอยู่

2.2 สามารถสรรหาบุคคลรุ่นใหม่ที่มีความต้องการเข้าสู่ระบบราชการ และเป็นบุคลากรที่มีความรู้วิทยาการทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษารอบสองและจะนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษามาบรรจุทดแทนได้

2.3 เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ในการกำหนดอนาคตของชีวิตตนเอง ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต การวางแผนครอบครัว การดูแลบิดา-มารดาที่ชราภาพหรือเจ็บป่วย เป็นต้น ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้มุ่งหวังว่าตนเองจะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้เข้าร่วมมาตรการฯ เหมือน 2 ปีที่ผ่านมา จึงไม่มีจิตใจและขาดแรงจูงใจที่จะปฏิบัติราชการต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ