การจัดตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve : APTERR)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 15:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติจัดตั้งสำนักงานเลขานุการ ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve (APTERR) ช่วงเตรียมการ ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอนุมัติหลักการให้ประเทศไทยเสนอขอจัดตั้งสำนักเลขานุการ APTERR เป็นการถาวรเมื่อความตกลง APTERR มีผลผูกพันแล้ว

2. อนุมัติให้นำข้าวที่ไทยสำรองไว้ (Earmarked Reserve) จำนวน 15,000 ตัน ภายในความตกลง ASEAN Food Security Reserve (AFSR) มาใช้เป็น Earmarked Reserve ของ APTERR

3. อนุมัติร่างความตกลง APTERR พร้อมมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายอื่นเป็นผู้ลงนามความตกลง APTERR ในการประชุม ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry Plus Three (AMAF+3) ครั้งที่ 10 ในเดือนตุลาคม 2553 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

4. อนุมัติการให้สัตยาบันและหลังจากที่ได้ลงนามความตกลง APTERR แล้วให้กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำสัตยาบันสารและยื่นสัตยาบันสารต่อเลขาธิการอาเซียนเพื่อเก็บรักษาตามข้อ X ของร่างความตกลง

5. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอื่นเป็นผู้ลงนามความตกลง APTERR

6. มอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงาน APTERR ของฝ่ายไทยซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายเบี้ยประชุมจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำหรับงบประมาณในการจัดตั้งเงินกองทุน APTERR ตามเงื่อนไขระยะเวลา 5 ปี นั้น เห็นควรสนับสนุนในวงเงินปีละ 29,500 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือคิดเป็นเงิน 868,800 บาท ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เท่ากับ 29.45 บาท โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร งบเงินอุดหนุน ส่วนปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 — 2558 ให้เสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รายงานว่า

1. ประเทศไทย โดย กษ. เป็น Lead Country ในการจัดตั้งโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออก (East Asia Emergency Rice Reserve: EAERR) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน แก้ไขปัญหาความยากจนและขาดแคลนอาหาร และเพิ่มเสถียรภาพราคาข้าวของภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน+3 ด้านการเกษตรและป่าไม้ (ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry Plus Three: AMAF+3) ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 ประเทศบรูไน ได้มีมติให้ปรับเปลี่ยนเป็นช่วงเตรียมการ (Preparatory Stage) ของ ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve (APTERR) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2553 เพื่อให้ สอดคล้องกับแถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 วันที่ 24 ตุลาคม 2552 ทั้งนี้ ที่ประชุม AMAF+3 ครั้งที่ 9 ได้เร่งให้ดำเนินการด้านเอกสารความตกลง APTERR (APTERR Agreement) ให้แล้วเสร็จและลงนามในความตกลงกัน ในที่ประชุม AMAF+3 ครั้งที่ 10 ในวันที่ 24 ตุลาคม 2553 ณ ประเทศกัมพูชา และเร่งรัดให้จัดตั้งองค์กร APTERR โดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความมั่นคงอาหารในยามวิกฤตให้กับภูมิภาค ซึ่งสรุปผลการประชุมปรึกษาหารือในร่างความตกลง APTERR และเอกสารแนบของความตกลงในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2553 ดังนี้

1.1 ความตกลง APTERR เป็นเอกสารความตกลงที่มีผลตามกฎหมาย (Legally Binding Document) และสอดคล้องกับกฎระเบียบของ WTO และข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง

1.2 ความตกลง APTERR ประกอบด้วย 2 ส่วน

1.2.1 ส่วนหลัก (Main Body) จะเป็นกรอบทั่วไปของความตกลง (General Framework)ประกอบด้วย บทนำ และบทบัญญัติ 10 มาตรา ได้แก่ คำจำกัดความ บทบัญญัติทั่วไป การจัดตั้งการสำรองข้าว APTERR การดำเนินงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเรื่องข้าว การจัดตั้งเงินกองทุน คณะกรรมการ APTERR สำนักเลขานุการ APTERR การระงับข้อพิพาท และบทบัญญัติสุดท้าย

1.2.2 เอกสารแนบ (Attachment) จะระบุรายละเอียดที่สำคัญ 3 เรื่องคือ (1) ปริมาณข้าวที่แต่ละประเทศสำรองไว้ (2) การบริจาคสำหรับเงินกองทุน APTERR (3) ขอบเขตหน้าที่ของคณะกรรมการ APTERR Council

1.3 แหล่งกำเนิดข้าว สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (17 กุมภาพันธ์ 2552) นั้น จากการประชุมสมาชิกร่วมกันล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2553 ประเทศสมาชิกมีฉันทามติ(Consensus) ให้ตัดเรื่องแหล่งกำเนิดข้าว (Origin of Rice) ออกจากความตกลง ซึ่งเรื่องนี้ กษ. เห็นว่าหากประเทศไทยยังคงยืนยันให้มีOrigin of Rice ในความตกลงต่อไป ก็จะทำให้ไม่สามารถจัดตั้งและลงนามในความตกลง APTERR ได้ตามที่ประชุมสุดยอดอาเซียน+3 (ASEAN +3 Summit) และ AMAF+3 มอบหมาย จึงได้เห็นตามเสียงส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิก ทั้งนี้ กษ. มีเหตุผลและกำหนดแนวทางไว้ในความตกลง ซึ่งมีผลเสมือนยังคงเรื่องการกีดกันข้าวจากนอกภูมิภาค (Origin of Rice) ไว้ดังนี้

1.3.1 ความเห็นของประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้ตัดเรื่อง Origin of Rice ออกจากความตกลงโดยเฉพาะประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ บรูไน ยืนยันให้ตัดออกรวมทั้งเวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เช่นเดียวกับไทย

1.3.2 การปกป้องข้าวภายใน ASEAN โดยใช้ข้อจำกัด เรื่อง Origin of Rice จะเป็นการเน้นเรื่องการค้ามากเกินไปไม่ใช่กรณีฉุกเฉินตามข้อตกลงของ APTERR

1.3.3 การกำหนด Origin of Rice ไว้ในความตกลงยังไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าขัดกับกฎ WTO หรือไม่ ถ้ายังคงไว้ในความตกลงจะทำให้หาข้อยุติไม่ได้ เพราะประเทศสมาชิกยังมีความเห็นขัดแย้งกันในประเด็นนี้

1.3.4 กษ. ได้ขอให้เพิ่มเติมข้อความในมาตรา 3 เรื่องจัดตั้งการสำรองข้าว APTERR ในความตกลง โดยให้เน้นวัตถุประสงค์การจัดตั้งการสำรองข้าว ดังนี้ 1) เป็นการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน (Emergency) (2) เพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian) และ (3) ต้องไม่มีผลกระทบบิดเบือนการค้าข้าวในตลาดปกติ

1.3.5 การบริหารจัดการจะดำเนินการภายใต้ระเบียบที่จะเขียนขึ้นมา และตัดสินใจ โดย APTERR Council ที่ต้องมีฉันทามติ (Consensus) ดังนั้นการใช้ข้าวจากภายนอกจะใช้ไม่ได้เลย ถ้าสมาชิกของประเทศใดประเทศหนึ่งไม่เห็นด้วย

1.3.6 การบริจาคข้าวใน APTERR ที่ผ่านมาปีละประมาณ 300-800 ตัน หรือประมาณ 0.005% ของปริมาณค้าขายข้าวในภูมิภาค ส่วนการซื้อขายภายใต้กรณีภัยพิบัติฉุกเฉินระหว่างฟิลิปปินส์ และเวียดนามตามความตกลงนี้มีเพียง จำนวน 1 ครั้ง ในปริมาณ 10,000 ตัน หรือประมาณ 0.06% ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อตลาดปกติแต่อย่างใด

1.4 ขอบเขตหน้าที่ของสำนักเลขานุการ APTERR และการบริหารจัดการระบายข้าว (Mode of Operation for APTERR Stock Release) จะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ APTERR Council ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของทั้ง 13 ประเทศ

2. เงินกองทุน (APTERR Fund) ได้มีมติให้จัดตั้งเงินกองทุน Endowment Fund (EF) จำนวน 4 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้เวลาระดมเงินทุน 5 ปี โดยกลุ่มประเทศ+3 (จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี) บริจาคประเทศละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ประเทศอาเซียนบริจาค 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมี 7 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม บริจาคประเทศละ 107,500 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนกลุ่มที่ 2 มี 3 ประเทศ คือ กัมพูชา สปป.ลาว และพม่าบริจาคประเทศละ 83,000 เหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ในช่วงระดมเงินทุน EF จะมีค่าใช้จ่ายในการเงินดำเนินงาน (Operating Cost: OC) ปีละ 300,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศบวกสาม(จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี)บริจาคประเทศละ 75,000 เหรียญสหรัฐฯ/ปี ส่วนประเทศอาเซียนนั้น กลุ่มแรกบริจาค 8,000 เหรียญสหรัฐ/ปี และกลุ่มที่ 2 บริจาค 6,000 เหรียญสหรัฐฯ/ปี

3. การสำรองข้าว APTERR มี 2 ประเภท คือ 1) ข้าวสำรองในรูปสัญญา (Earmarked Reserve) ของอาเซียนมีทั้งสิ้น 787,000 ตัน โดยประเทศไทยได้สำรองไว้ 15,000 ตัน ซึ่งแนวทางดำเนินงาน จะให้ประเทศสมาชิกจับคู่ทำสัญญาซื้อขายในราคาที่เหมาะสม รวดเร็ว ทันต่อการช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ขึ้นกับข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาและ 2) ข้าวสำรองจริง (Stockpiled Reserve) จะเป็นข้าวหรือเงินสดที่องค์กรจะได้รับแบบให้เปล่าจากประเทศสมาชิกเพื่อนำไปช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบภัย

4. การบริหารข้าวสำรอง APTERR จะดำเนินการโดย สำนักเลขานุการ APTERR ภายใต้กลไกระบายข้าวที่กำหนด

5. การกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติของฝ่ายไทย เนื่องจากการบริหารข้าวสำรองในรูปสัญญา(Earmarked Reserve) จำนวน 15,000 ตัน และข้าวสำรองจริง (Stockpiled Reserve) ของไทยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้การบริหารข้าวสำรองของไทยเป็นไปอย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ