ความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 16:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้

1. ให้ความเห็นชอบร่างความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอล และร่างความตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการจัดหางานและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration : IOM) ในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล (ภาคผนวก เอ)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามในนามของผู้แทนฝ่ายไทยในความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอล โดยเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยเป็นผู้ลงนามในนามของผู้แทนฝ่ายอิสราเอล

3. อนุมัติให้อธิบดีกรมการจัดหางานลงนามในนามของผู้แทนฝ่ายไทยในความตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการจัดหางานและ IOM (ภาคผนวก เอ)

4. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือแจ้งทางการอิสราเอลเพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับ และออกหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอล และอธิบดีกรมการจัดหางานเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในความตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการจัดหางานและ IOM (ภาคผนวก เอ)

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงแรงงาน (รง.) รายงานว่า

1. กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประชุมหารือกับคณะเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสรัฐบาลอิสราเอลเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอล และความตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการจัดหางานและ IOM ในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ณ กระทรวงแรงงาน ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันในเนื้อหาสาระของร่างความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอล สำหรับร่างความตกลงความร่วมมือในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอลระหว่างกรมการจัดหางานและ IOM ให้คงใช้เนื้อหาและถ้อยความของร่างความตกลงตามฉบับเดิม ที่ได้หมดอายุลงภายหลังลงนามความตกลง 2 ปี ทั้งนี้ ให้ปรับแก้ไขถ้อยความบางส่วนให้รัดกุมและให้จัดทำเป็นภาคผนวก เอ (Appendix A) ของร่างความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอล

2. เนื่องจากรัฐบาลอิสราเอลกำหนดนโยบายจำกัดจำนวนการนำเข้าแรงงานต่างชาติภาคเกษตรจากประเทศที่ไม่มีการลงนามความตกลงกับอิสราเอลโดย IOM เป็นผู้จัดส่งกล่าวคือ ประเทศใดที่ยังไม่มีการลงนามความตกลงกับประเทศอิสราเอลภายในเดือนเมษายน 2553 รัฐบาลอิสราเอลจะจำกัดจำนวนแรงงานต่างชาติภาคเกษตรให้เหลือเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น และเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งได้ลงนามความตกลงทวิภาคีกับประเทศอิสราเอลโดยให้ IOM เป็นผู้จัดส่งแล้วรัฐบาลอิสราเอลจะไม่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติภาคเกษตรจากประเทศที่ยังไม่มีการทำความตกลงร่วมกันเข้าไปทำงานในอิสราเอลอีกต่อไป

3. ร่างความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอลเป็นความตกลงที่มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมการจ้างแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล โดยให้เป็นไปตามข้อบังคับ กฎ ระเบียบ และข้อกฎหมายของประเทศทั้งสองรวมทั้งเป็นการต่อต้านการค้ามนุษย์ การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติและการจ้างแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการระหว่างไทยและ IOM ในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นการประกันการจ้างแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอลอย่างถูกกฎหมาย เป็นธรรม และได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

4. ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานในประเทศอิสราเอลประมาณ 26,900 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคเกษตรประมาณ 26,000 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 96.65 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด รองลงมาคือภาคบริการร้านอาหารและ โรงแรมประมาณ 600 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.23 ภาคบริการดูแลคนชราและผู้พิการประมาณ 200 คน คิดเป็น สัดส่วนร้อยละ 0.75 และภาคก่อสร้าง 100 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.37 ทั้งนี้ แรงงานส่วนใหญ่เดินทางไปทำงานโดยวิธีการจัดส่งของบริษัทจัดหางานจัดส่งมากที่สุดและรองลงมาคือแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง

5. กรมการจัดหางานได้ตรวจสอบข้อกฎหมายแล้วเห็นว่าข้อตกลงและเงื่อนไขความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอิสราเอล IOM และกรมการจัดหางานในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอลมีเนื้อหาสาระโดยรวมไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 ตลอดจนเป็นการดำเนินการตามภารกิจของกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงานในการส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 84 (7)

6. การทำความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอล โดยให้ IOM เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งแรงงานไทยภาคเกษตรไปทำงานในประเทศอิสราเอล ทำให้ฝ่ายไทยได้ประโยชน์ ดังนี้

6.1 การจัดส่งแรงงานไทยภาคเกษตรไปทำงานในอิสราเอล โดย IOM เป็นผู้จัดส่งเป็นนโยบายของรัฐบาลอิสราเอลที่ต้องการลดค่าบริการและค่าใช้จ่ายของคนหางานที่เรียกเก็บโดยบริษัทจัดหางานไทย และให้หน่วยงานภาครัฐของไทยและอิสราเอลเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคนหางาน ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อคนหางาน กล่าวคือ คนหางานจะเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานประเทศอิสราเอลลดลง ซึ่งตามความตกลงคนหางานจะเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายไม่เกิน 3,402 เชคเกล หรือประมาณ 900 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 28,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 9 กันยายน 2553 : 1 เชคเกล เท่ากับ 8.23 บาท) เมื่อรวมค่าใช้จ่ายส่วนตัวของคนงานเป็นเงินทั้งสิ้น 63,650 บาท

ในขณะที่ปัจจุบันอัตราค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่บริษัทจัดหางานเรียกเก็บจากคนหางานในการเดินทางไปทำงานประเทศอิสราเอลประมาณ 193,000 บาท ซึ่งคนหางานส่วนใหญ่ร้อยละ 96 เดินทางไปทำงานโดยการจัดส่งของบริษัทจัดหางาน หากคนหางานไปทำงานโดยการจัดส่งของ IOM จะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของคนหางานไปทำงานประเทศอิสราเอลลดลงเป็นจำนวนมาก

6.2 แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานประเทศอิสราเอลเป็นทรัพยากรบุคคลที่สามารถสร้างรายได้ให้กับภาครัฐได้จำนวนมหาศาล นำเงินรายได้มาจุนเจือครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และเมื่อคนงานเดินทางกลับประเทศไทยยังสามารถนำทักษะความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ มาประกอบอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้และไม่เป็นภาระของสังคม ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงควรคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของคนงานที่พึงได้รับจากการทำความตกลงดังกล่าวเป็นสำคัญ

6.3 การทำความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอลเป็นการสานสัมพันธ์ไมตรีที่ดีระหว่างทั้งสองประเทศ ทำให้ความร่วมมือด้านแรงงานมีผลที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และยังเสริมสร้างผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน รวมทั้งได้สนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลในการลดค่าใช้จ่ายของคนหางานในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในการต่อต้านการค้ามนุษย์

7. ร่างความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอลมีประเด็นเกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 190 กล่าวคือ เป็นหนังสือสัญญาซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนลงนาม และร่างความตกลงดังกล่าวเป็นการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอิสราเอลและ IOM ในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล ซึ่งไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องออก พระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา ดังนั้น ร่างความตกลงฯ จึงไม่น่าจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง

สาระสำคัญของร่างความตกลง

1. สาระสำคัญของร่างความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอล สรุปได้ดังนี้

1.1 วัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในการจ้างแรงงานไทยและยืนยันการสนับสนุนการดำเนินงานจัดส่งแรงงานระหว่างไทยกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) รวมทั้งส่งเสริมความคุ้มครองสิทธิของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล

1.2 ข้อกำหนดทั่วไปเกี่ยวกับการจ้างแรงงานไทยในภาคเกษตรภายใต้กรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างไทยกับ IOM

1.2.1 รัฐบาลอิสราเอลและรัฐบาลไทยจะดำเนินการร่วมกันในการจ้างแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล โดยผ่าน IOM ตามที่กำหนดไว้ใน “ข้อตกลงความร่วมมือ” และอาจมีการเปลี่ยนแปลงหากทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน

1.2.2 รัฐบาลอิสราเอลจะร่วมมือกับรัฐบาลไทย และ IOM และให้คำแนะนำ ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสมในเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการจ้างแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอลภายใต้กฎหมายและระเบียบอิสราเอล

1.2.3 รัฐบาลอิสราเอลจะอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานเป็นแรงงานในภาคเกษตรเฉพาะประเทศที่มีการดำเนินงานระบบการจ้างงานที่มี IOM เป็นผู้ดูแล เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตัดสินใจของรัฐบาลอิสราเอล ซึ่งข้อกำหนดนี้จะไม่ใช้กับการจ้างงานและการจ้างแรงงานต่างชาติในเหตุการณ์เฉพาะอื่นๆ ตามกฎหมายของอิสราเอล

1.3 ความร่วมมือระหว่างรัฐภายใต้ข้อกำหนดของข้อตกลง และกฎหมาย ระเบียบ และนโยบายของอิสราเอลและไทย

1.3.1 รัฐบาลอิสราเอลจะอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่า และการเดินทางเข้าอิสราเอลของแรงงานไทยที่ได้รับการจ้างงานภายใต้ “ข้อตกลงความร่วมมือ” คุ้มครองสิทธิของแรงงานไทยภายใต้กฎหมายอิสราเอลและระเบียบที่เกี่ยวข้อง จัดหาข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับอิสราเอลแก่รัฐบาลไทย และ/หรือ IOM ประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศอิสราเอลเมื่อเห็นว่าจำเป็นและได้รับการร้องขอ ตลอดจนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทย และ/หรือ IOM ในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อตกลง และ “ข้อตกลงความร่วมมือ” เมื่อมีการร้องขอเป็นครั้งคราว

1.3.2 รัฐบาลไทยจะร่วมมือกับ IOM ในการดำเนินการเผยแพร่และการเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้แรงงานไทยที่สนใจได้รับทราบเกี่ยวกับโอกาสในการสมัครไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล โดยไม่ต้องมีนายหน้าหรือคนกลางมาช่วยเหลือตามที่ระบุไว้ใน “ข้อตกลงความร่วมมือ” จัดหาข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับประเทศไทยแก่รัฐบาลอิสราเอล และ/หรือ IOM ประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทย เมื่อเห็นว่ามีความจำเป็นและได้รับการร้องขอ ตลอดจนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอิสราเอล และ/หรือ IOM ในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อตกลง และ “ข้อตกลงความร่วมมือ” เมื่อมีการร้องขอเป็นครั้งคราว

1.3.3 รัฐบาลอิสราเอลและรัฐบาลไทยจะร่วมมือกันในการสนับสนุนและประเมินผลการดำเนินงานทั้งหมดของ IOM ในการจัดส่งแรงงานไทยไปประเทศอิสราเอลและให้ความช่วยเหลือแรงงานไทย ภายหลังเดินทางมาถึงอิสราเอลตาม “ข้อตกลงความร่วมมือ”

1.4 ความร่วมมือด้านกฎหมาย รัฐบาลอิสราเอลและรัฐบาลไทยจะร่วมมือกันและให้ความช่วยเหลือในการสอบสวนและดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับเรื่องที่ระบุในข้อตกลงนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ

1.5 คณะทำงานร่วม และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร

1.5.1 คณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐบาลอิสราเอลและรัฐบาลไทย ซึ่งจะประชุมเป็นครั้งคราวเพื่อหารือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงนี้ และจัดประชุมเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ โดยฝ่ายที่ต้องการจัดประชุมจะต้องเสนอข้อเสนอจัดการประชุมและระบุประเด็นที่ต้องการหารือเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งจัดการประชุมภายใน 21 วันนับจากวันที่อีกฝ่ายหนึ่งได้รับคำร้องขอจากฝ่ายที่ต้องการเปิดประชุม

1.5.2 แต่ละฝ่ายจะจัดหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่อาจมีผลต่อการดำเนินงานของข้อตกลงนี้ หรือ “ข้อตกลงความร่วมมือ” ให้อีกฝ่ายหนึ่ง และปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน

1.6 การยกเลิกข้อตกลง

ข้อตกลงนี้มีระยะเวลา 2 ปี และจะมีการต่ออายุโดยอัตโนมัติ ยกเว้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงความต้องการที่จะยกเลิกข้อตกลงนี้ แต่ละฝ่ายอาจจะยกเลิกข้อตกลงนี้เมื่อใดก็ได้โดยการส่งหนังสือทางการทูต (Diplomatic Notes) บอกยกเลิกข้อตกลงนี้ให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วันก่อนวันที่ต้องการยกเลิกข้อตกลง ทั้งนี้ บุคคลซึ่งถือวีซ่าที่ออกภายใต้กรอบของข้อตกลงนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิก

2. สาระสำคัญของร่างความตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและ IOM ซึ่งเป็นภาคผนวกเอของร่างความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอล สรุปดังนี้

2.1 วัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเงื่อนไขความร่วมมือระหว่างองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และกรมการจัดหางาน (DOE) ในการจัดส่งแรงงานไทยภาคเกษตรไปทำงานในประเทศอิสราเอล โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย มีความยุติธรรม และแรงงานได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง

2.2 การประชาสัมพันธ์ การจัดการฐานข้อมูล และการคัดเลือก

2.2.1 IOM จัดเตรียมข้อมูลโอกาสการจ้างงานภาคเกษตรในอิสราเอลให้กรมการจัดหางาน รวมถึงโควตา คุณสมบัติของคนงาน ค่าจ้าง ลักษณะงาน ระยะเวลาและเงื่อนไขของสัญญาจ้างงาน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของคนงาน

2.2.2 IOM และกรมการจัดหางานร่วมกันวางแผนในการประชาสัมพันธ์ โดยให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดเป็นหน่วยรวบรวมใบสมัครและส่งให้ IOM ข้อมูลของผู้สมัครจะถูกบันทึกในฐานข้อมูลของ IOM และกรมการจัดหางานสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้

2.2.3 รายชื่อผู้สมัครที่มีคุณสมบัติจะถูกสุ่มเลือกจากฐานข้อมูล โดย IOM และกรมการจัดหางานร่วมกันสัมภาษณ์และทดสอบ กรณีที่มีจำนวนผู้สมัครที่มีสิทธิสัมภาษณ์เกินกว่าตำแหน่งงานว่างการสุ่มโดยคอมพิวเตอร์จะเป็นการคัดเลือกสุดท้าย

2.3 สัญญาจ้างงาน การตรวจสุขภาพ การจัดการเรื่องวีซ่า และการเดินทาง

2.3.1 IOM และกรมการจัดหางานจะตรวจสอบสัญญาจ้างมาตรฐานที่จัดเตรียมโดยนายจ้างให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานทั้งของไทยและอิสราเอล และให้คนงานรับทราบเงื่อนไขของสัญญาจ้างอย่างชัดเจน

2.3.2 สัญญาจ้างงานจัดทำเป็นภาษาไทย ภาษาฮิบรู และภาษาอังกฤษ กรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างนายจ้าง จะถือเอาสัญญาจ้างฉบับภาษาอังกฤษเป็นฉบับที่มีผลบังคับใช้

2.3.3 เมื่อนายจ้างและลูกจ้างลงนามในสัญญาจ้างงาน กรมการจัดหางานจะแจ้งและลงทะเบียนให้คนงานเข้าเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ

2.3.4 การตรวจสุขภาพคนงานที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของไทยและอิสราเอล โดย IOM รับผิดชอบในการควบคุมคุณภาพการตรวจสุขภาพ (quality control) ซึ่งการตรวจสุขภาพจะดำเนินการในสถานพยาบาลที่ IOM คัดเลือกจากสถานพยาบาลที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการจัดหางาน

2.3.5 คนงานที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับความช่วยเหลือจาก IOM ในกระบวนการยื่นขอวีซ่า การทำงาน และการจัดการเรื่องการเดินทาง การสำรองที่นั่งตั๋วโดยสารเครื่องบิน และกำหนดการเดินทางของคนงาน

2.4 การตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือก่อนเดินทาง

2.4.1 IOM และกรมการจัดหางานร่วมกันดำเนินการปฐมนิเทศก่อนการเดินทางแก่คนงานที่ได้รับการคัดเลือก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ 1) รายละเอียดสัญญาจ้างงาน สิทธิและข้อผูกมัดของคนงาน/นายจ้างเงื่อนไขการทำงานและการอาศัยอยู่ในอิสราเอล 2) วัฒนธรรมอิสราเอล 3) การส่งเงินกลับประเทศ และ 4) ข้อมูลการติดต่อกรณีฉุกเฉินหลังการเดินทางเข้าประเทศอิสราเอล

2.4.2 IOM และกรมการจัดหางานจะจัดทำรายงานประเมินผลเกี่ยวกับกระบวนการจัดส่งและการคัดเลือกปีละ 2 ครั้ง

2.5 ความช่วยเหลือหลังการเดินทาง

2.5.1 IOM จะดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอิสราเอลจะไปรับคนงานที่สนามบินและส่งคนงานไปยังสถานที่ทำงาน และแจ้งฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอิสราเอล ดังนี้ 1) ชื่อของคนงาน 2) ชื่อของนายจ้าง และ 3) ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของนายจ้าง

2.5.2 IOM หรือ NGO ที่เป็นหุ้นส่วนในอิสราเอลจะจัดบริการให้คำปรึกษาหลังการเดินทางเป็นภาษาไทยผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน และแนะนำเกี่ยวกับสิทธิและข้อผูกมัดของคนงานในอิสราเอล

2.5.3 กระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและแรงงานของอิสราเอลจะทำรายงานประเมินผลสถานะและสถานการณ์แรงงานประจำปี โดยความช่วยเหลือของ IOM เพื่อแบ่งปันข้อมูลกับกรมการจัดหางาน

2.5.4 ในกรณีที่บริษัทจัดหางานอิสราเอลติดต่อกับ IOM บริษัทจัดหางานจะลงนามรับผิดชอบเกี่ยวกับการให้บริการตามรายการในภาคผนวก บี กรณีที่นายจ้างติดต่อกับ IOM โดยตรง ฝ่ายที่สามที่ได้รับการยอมรับ เช่น NGO หรือสมาคมเกษตรกรจะลงนามรับผิดชอบการให้บริการในภาคผนวก บี โดยความต่อเนื่องของการติดต่อโดยตรงของนายจ้างและ IOM จะขึ้นอยู่กับกฎหมายและขั้นตอนของอิสราเอล การบริการที่เพิ่มขึ้นอาจเพิ่มเข้าไปในภาคผนวก บี โดยความเห็นชอบระหว่าง IOM และกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานไทยตามกฎหมายอิสราเอลและขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง โดยการให้บริการตามรายการในภาคผนวก บี ได้แก่

(1) ช่วยเหลือในการยื่นและขอรับ Re-entry Visa ของคนงานไทยที่ประสงค์จะเดินทางออกจากประเทศไทยชั่วคราว และช่วยเหลือในการยื่นขอต่อหนังสือเดินทางเมื่อจำเป็น

(2) ช่วยเหลือนายจ้างในการได้รับการประกันสุขภาพและประกันภัยแห่งชาติ (Betuach Leumi) ในสาขาที่มีอยู่สำหรับแรงงานต่างชาติในอิสราเอลตามกฎหมายแรงงานต่างชาติของอิสราเอล

(3) อำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างคนงานไทยและนายจ้างในกรณีที่เกิดการโต้แย้งที่เกี่ยวกับสัญญาจ้าง รวมทั้งในกรณีที่นายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง

(4) ช่วยเหลือคนงานที่ประสงค์จะเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนนายจ้าง และประกันการจ้างงานใหม่ตามกฎหมายอิสราเอลผ่านการให้บริการข้อมูลที่คนงานควรทราบและโอกาสงานที่เกี่ยวข้อง

(5) จัดหาข้อมูลทางเลือกการส่งเงินกลับประเทศที่มีประสิทธิภาพและประหยัด

(6) ช่วยเหลือในการกรอกข้อมูลสำหรับการขอเงินทดแทนและสวัสดิการที่กำหนดโดยกฎหมายอิสราเอลในนามของคนงานที่ได้รับบาดเจ็บหรือทายาทของคนงานที่ถึงแก่กรรม

(7) ไปรับคนงานไทยที่สนามบินและส่งคนงานไปยังสถานที่ทำงาน หรือทำให้แน่ใจว่านายจ้างได้พบคนงานและส่งคนงานไปยังสถานที่ทำงานแล้ว

(8) ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตไทยในอิสราเอลเกี่ยวกับการให้บริการข้างต้น

(9) จัดหาข้อมูลที่จำเป็นต่อนายจ้างและคนงานเกี่ยวกับข้อผูกมัดและความรับผิดชอบในการจ้างงาน รวมทั้งข้อห้ามต่างๆ ที่เกี่ยวกับการยึดหนังสือเดินทางของคนงานโดยผิดกฎหมาย

2.5.5 กรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว เกิดโรคระบาดอย่างฉับพลัน หรือเกิดความรุนแรงฉับพลันที่มีผลกระทบต่อคนงานไทย คนงานจะได้รับความช่วยเหลือให้ย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัยภายในประเทศอิสราเอล หรือส่งกลับประเทศไทยตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาจ้าง นอกจากนี้ IOM อาจช่วยเหลือในการส่งคนงานกลับประเทศไทยโดยใช้เงินทุนที่มีอยู่

2.6 ค่าใช้จ่ายคนงานที่ได้รับการคัดเลือกไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจัดหางานให้กับ IOM แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนตัว ได้แก่ ค่าธรรมเนียมตรวจลงตรา ค่าหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ ค่าพาหนะเดินทางในประเทศและ ต่างประเทศ ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ และนายจ้าง/บริษัทจัดหางานอิสราเอลต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าบริหารจัดการ การดูแลให้ความช่วยเหลือคนงานหลังการเดินทางไปทำงานให้กับ IOM โดยบริษัทจัดหางานอาจเรียกเก็บเงินจากคนงานในจำนวนที่จ่ายให้ IOM เพื่อดำเนินกิจกรรมที่ได้กำหนดไว้ในความตกลงนี้ ทั้งนี้ คนงานจะเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่เกิน 3,402 เชคเกล หรือ 900 ดอลลาร์สหรัฐ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายส่วนตัว) ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายอิสราเอล

2.7 การดำเนินการโครงการ IOM และกรมการจัดหางานจะร่วมจัดตั้ง Project Coordination Committee ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายละ 2 คน โดยจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามและประเมินโครงการทุก 2 เดือน

2.8 ความตกลงจะมีผลบังคับใช้เมื่อมีการลงนามระหว่าง IOM และกรมการจัดหางาน โดยมีระยะเวลา 2 ปี และอาจต่ออายุความตกลงได้โดยความเห็นชอบร่วมกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะยกเลิกความตกลงฉบับนี้ ฝ่ายที่ขอยกเลิกต้องแจ้งอีกฝ่ายภายใน 90 วันเป็นลายลักษณ์อักษร โดยทั้งสองฝ่าย จะต้องหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อของความตกลงฉบับนี้ร่วมกัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ