รายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 16:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

ตามที่ ประเทศไทยได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2538 (Agreement on the Cooperation for the Sustainable Development of the Mekong River Basin A.D. 1995: 1995 Mekong Agreement) ร่วมกับรัฐบาลของประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2538 ณ จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย เป็นผลให้เกิดการก่อตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ขึ้นเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Organization) โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ให้เกิดความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และความสมบูรณ์ทางวัฒนธรรม

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แบ่งโครงสร้างการบริหารงานออกเป็นองค์กรบริหารถาวร 3 องค์กร คือ

1) คณะมนตรี (Council) ประกอบด้วย ผู้แทนระดับรัฐมนตรีของประเทศภาคีสมาชิก 4 ประเทศ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหาร การตัดสินใจและกำหนดแนวปฏิบัติที่จำเป็น 2) คณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ประกอบด้วย ผู้แทนระดับไม่ต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการ (อธิบดี หรือเลขาธิการ) ของประเทศภาคีสมาชิก 4 ประเทศ ทำหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายของคณะมนตรี และกำกับดูแลกิจการของสำนักงานเลขาธิการ 3) สำนักงานเลขาธิการ (The Secretariat) ทำหน้าที่ให้บริการด้านการบริหารทั่วไป ด้านวิชาการ และด้านแผนงาน/กิจกรรม

ในด้านการบริหารงานของคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กำหนดให้ผู้แทนระดับรัฐมนตรีของภาคีสมาชิกแต่ละประเทศ ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีฯ มีวาระ 1 ปี และหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษของประเทศภาคีสมาชิก โดยประธานคณะมนตรีฯ มีหน้าที่ปฏิบัติงานในนามคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เมื่อได้มีการปรึกษาหารือและยินยอมจากสมาชิกคนอื่นๆ ในคณะมนตรีฯ รวมทั้งการมอบอำนาจให้ประธานคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในการทำความตกลง หรือข้อผูกพันกับรัฐบาลประเทศสมาชิกและองค์กรอื่นได้

คณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จะมีการประชุมสมัยวิสามัญทุกปี ปีละ 1 ครั้ง โดยสถานที่ประชุมกำหนดจัดขึ้น ณ ประเทศของประธานคณะมนตรีฯ ซึ่งระหว่างเดือนกรกฎาคม 2552-มิถุนายน 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย และประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยโดยตำแหน่ง ได้เข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรีฯ ตามระเบียบปฏิบัติของคณะมนตรีฯ บัดนี้ วาระการดำรงตำแหน่งดังกล่าวสิ้นสุดลง ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงขอนำเรียนสรุปผลการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ดังนี้

1. จัดทำปฏิญญาหัวหิน ค.ศ. 2010 ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และจัดประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน 2553 ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ปฏิญญาหัวหิน ค.ศ. 2010 ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระดับนโยบายของประเทศ ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ร่วมกับประเทศภาคีสมาชิกอีก 3 ประเทศ (ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นหลักของความร่วมมือ พร้อมกับการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้แก่ ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน และประเด็นผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อวิถีชีวิตของประชาชน ฯลฯ บรรจุในปฏิญญาหัวหินฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีของประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ทั้ง 4 ประเทศ ได้ให้การรับรองปฏิญญาหัวหินฯ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553

สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้น ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับได้ว่าเป็นการประชุมระดับผู้นำประเทศครั้งแรกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ภายหลังการก่อตั้งคณะกรรมาธิการเมื่อ พ.ศ. 2538 จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนครบรอบ 15 ปี และเป็นการแสดงจุดยืนร่วมกันของผู้นำประเทศในการดำเนินการตามความตกลงฯ พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยในขั้นตอนการเตรียมการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ด้วยเล็งเห็นว่าจะเป็นเวทีหนึ่งที่สนับสนุนให้ไทยมีบทบาทหลักในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมของภูมิภาค

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดประชุมฯ ได้จัดเตรียมการประชุม ประสานหน่วยงานราชการ องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ และจัดการประชุมอย่างสำเร็จลุล่วง บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ ส่งผลให้เกิดบรรยากาศความร่วมมือที่ดีระหว่างประเทศในภูมิภาค อีกทั้งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

2. การเพิ่มพูนความสัมพันธ์อันดีกับประเทศคู่เจรจา คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีบทบาทร่วมกับประเทศภาคีสมาชิก คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงอีก 3 ประเทศ ดังนี้ 1) เสนอให้สาธารณรัฐประชาชนจีน แลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกวิทยาในช่วงฤดูแล้งของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ของประเทศไทยและภูมิภาค เพื่อใช้ประโยชน์ในการพยากรณ์ระดับน้ำและวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำ ซึ่งได้รับการตอบสนองจากสาธารณรัฐประชาชนจีนตามที่ร้องขอในเบื้องต้น คือ การแจ้งข้อมูลระดับน้ำจากสถานีวัดน้ำของสาธารณรัฐประชาชนจีน 2 แห่ง ในช่วงฤดูแล้ง และอยู่ในระหว่างการขยายขอบเขตความร่วมมือด้านอื่นต่อไป 2) การพิจารณาหลักเกณฑ์การเข้าเป็นภาคีสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตามที่สหภาพพม่าได้มีท่าทีสนใจเข้าร่วม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและภาคีสมาชิกในการวางแผนบริหารจัดการลุ่มแม่น้ำโขงทั้งระบบ

3. การกำหนดนโยบายที่สำคัญของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เมื่อวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2552 ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง มีผลงานที่สำคัญ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ดังนี้

3.1 อนุมัติโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในลุ่มน้ำโขง (Mekong Intergraded Water Resources Management: M-IWRM) เพื่อปรับปรุงขอบเขตการดำเนินงานและศักยภาพของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ให้มีบทบาทเป็นผู้อำนวยการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ตามหลักการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านทรัพยากรน้ำควบคู่กับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ

3.2 อนุมัติแผนงาน/กิจกรรมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงประจำปี ค.ศ.2010 จำนวน 11 ด้าน ประกอบด้วย แผนพัฒนาลุ่มน้ำ แผนงานสิ่งแวดล้อม โครงการการปรับตัวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผนงานการจัดการองค์ความรู้และข้อมูลข่าวสาร แผนงานเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรแบบองค์รวม โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ แผนงานบริหารจัดการและบรรเทาอุทกภัย แผนงานการเกษตร ชลประทานและป่าไม้แผนงานการเดินเรือ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ และแผนงานประมง

3.3 เห็นชอบให้นำแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment: SEA) มาใช้ในการพัฒนาลุ่มน้ำและโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำ สืบเนื่องจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำ โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำโขงสายประธาน เป็นประเด็นด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่มีความอ่อนไหว อีกทั้งได้รับความสนใจจากสังคมในวงกว้าง ดังนั้น การนำเอาแนวคิดการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมที่มีความครอบคลุมและได้รับการยอมรับในระดับสากลมาใช้ จึงมีส่วนช่วยการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีความสมบูรณ์และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในลุ่มน้ำร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาต่อไป

3.4 เห็นชอบแนวนโยบายการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC Stakeholder Engagement Policy) เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินนโยบายมีความโปร่งใสและเปิดเผยได้ เพิ่มความเข้มแข็งและบทบาทของประเทศภาคีสมาชิกในการเป็นเจ้าขององค์กรซึ่งจะเห็นได้จากตำแหน่งบริหารที่สำคัญ คือ หัวหน้าฝ่ายการเงิน หัวหน้าฝ่ายประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และที่ปรึกษาด้านเทคนิค ซึ่งจะเป็นศูนย์อำนวยการให้คำแนะนำการดำเนินงานแผนงานต่างๆ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของ MRC ปรับเปลี่ยนจากชาวต่างประเทศเป็นเจ้าหน้าที่จากประเทศภาคีสมาชิก นอกจากนี้ มีการพัฒนากลไกการประสานงานในภูมิภาค โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์และเกณฑ์พื้นฐานด้านกระบวนการที่ชัดเจน ในบริบทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง การริเริ่มกำหนดหลักเกณฑ์ในการติดตามความสำเร็จของการดำเนินแผนงานต่างๆ และในการบริหารงานระดับคณะมนตรีฯ และคณะกรรมการร่วมฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ