การรับรองร่างปฏิญญาโอกินาวาและร่างแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 16:23 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การรับรองร่างปฏิญญาโอกินาวาและร่างแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ของคณะทำงานเอเปค

ด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ ปี 2553-2558

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาโอกินาวา (Draft Okinawa Declaration) และร่างแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ของคณะทำงานเอเปคด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ ปี 2553-2558 (Draft APEC TEL Strategy Action Plan: 2010-2015)

2. เห็นชอบให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสามารถปรับปรุงถ้อยคำในร่างปฏิญญาโอกินาวา และร่างแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ของคณะทำงานเอเปคด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศได้ ในกรณีที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญในระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรม สารสนเทศ ครั้งที่ 2 (TELSOM II) ระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคม 2553 ซึ่งจะมีการพิจารณากลั่นกรองร่างเอกสารทั้งสองฉบับอีกครั้ง

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) รายงานว่า

1. การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศ (APEC Ministerial Meeting on the Telecommunications and Information Industry: APEC TELMIN) เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศของสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ จัดขึ้นทุก ๆ 2-3 ปี เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและยั่งยืนและนำผลการประชุมในหัวข้อต่าง ๆ เสนอต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่ผ่านมามีการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศแล้วจำนวน 7 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เมื่อวันที่ 23-25 เมษายน 2551 ณ กรุงเทพมหานคร

2. ความร่วมมือด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปคดำเนินการโดยคณะทำงานเอเปคด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ (APEC Telecommunications and Information Working Group: APEC TEL) ซึ่งจะมีการประชุมปีละ 2 ครั้ง และเมื่อกำหนดจะมีการประชุมรัฐมนตรี (TELMIN) ก็จะมีการจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (TELSOM) เพื่อเตรียมการต่างๆ สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งในครั้งนี้การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ ครั้งที่ 2 (TELSOM II ) กำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคม 2553 ณ เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น และการประชุมรัฐมนตรีเอเปคฯ ครั้งที่ 8 (APEC TELMIN 8) กำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2553 ณ เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น โดยได้กำหนดหัวข้อ (Theme) ของการประชุม คือ “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะกลไกขับเคลื่อนสู่ความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมรูปแบบใหม่ (ICT as an Engine for New Socio-Economic Growth)”

3. สาระสำคัญของร่างเอกสารสองฉบับ สรุปได้ดังนี้

3.1 ร่างปฏิญญาโอกินาวา (Okinawa Declaration)

ร่างปฏิญญาโอกินาวาเป็นเอกสารซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและ อุตสาหกรรมสารสนเทศจะให้การรับรอง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ ประกอบด้วย

3.1.1 ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตรูปแบบใหม่ ประกอบด้วย การแสดงความยินดีกับความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายบรูไนให้มีบริการอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงภายในปี 2553 การยืนยันที่จะบรรลุเป้าหมายปฏิญญากรุงเทพ เพื่อให้มีการบริการอย่างทั่วถึงในระดับบรอดแบนด์ภายในปี 2558 การสนับสนุนแนวทางปฏิบัติเรื่องการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี IPv6 การเข้าถึงเทคโนโลยียุคหน้า โดยการขยายบรอดแบนด์ความเร็วสูงภายในปี 2563 รวมถึงสนับสนุนให้ผู้พิการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัล ได้อย่างเต็มที่

3.1.2 ด้านการเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้ไอซีที การใช้ไอซีทีในการแก้ปัญหาที่มีอยู่ทั่วโลก เช่น ปัญหาพลังงาน และปัญหาสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้ไอซีทีเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งตระหนักถึงบริการและการใช้เทคโนโลยี เช่น cloud computing และ grid computing เพื่อลดต้นทุนในการเข้าถึงไอซีที

3.1.3 ด้านการส่งเสริมความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกอบด้วย เรื่องการเพิ่มมาตรการในการกำกับดูแลกิจกรรมออนไลน์ เช่น อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และการโจมตีทางไซเบอร์ การให้ความสำคัญกับนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและ ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยบนเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ การเสริมสร้างความร่วมมือและความพยายามร่วมกันในการสร้างความตระหนัก และแลกเปลี่ยนการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการ

3.1.4 ด้านการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ประกอบด้วย เรื่องการตระหนักถึงความสำคัญของเป้าหมายโบกอร์ในการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มุ่งไปสู่การดำเนินงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายและการอำนวยความสะดวกในการพัฒนาการเปิดเสรีและการเปิดตลาดในภูมิภาคเอเปค สนับสนุนการจัดทำความตกลงการยอมรับร่วมในเรื่องของการตรวจสอบและรับรองอุปกรณ์โทรคมนาคม (Mutual Recognition Arrangement for Conformity Assessment: MRA-CA) และให้ความสำคัญการจัดทำความตกลงการยอมรับร่วมในเรื่องความเท่าเทียมของข้อกำหนดทางเทคนิคสำหรับอุปกรณ์ โทรคมนาคม (Mutual Recognition Arrangement for Equivalence of Technical Requirement: MRA-ETR) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าของอุปกรณ์โทรคมนาคมในภูมิภาค

3.1.5 ด้านการเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาไอซีที สนับสนุนการใช้ไอซีทีในสาขาต่างๆ ได้แก่ สาธารณสุข การศึกษา พลังงาน สิ่งแวดล้อม และการจัดการภัยพิบัติ การร่วมมือในเวทีของเอเปค และการประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศ

3.2 ร่างแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ของคณะทำงานเอเปคด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ ปี 2553-2558 (Draft APEC TEL Strategy Action Plan: 2010-2015)

ร่างแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ฯ เป็นเอกสารที่จะนำเสนอต่อที่ประชุม รัฐมนตรีฯ ครั้งที่ 8 เพื่อให้การรับรอง โดยเป็นเอกสารที่กำหนดแผนการดำเนินงานของคณะทำงานเอเปคด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการ ฯ ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่

3.2.1 การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตรูปแบบใหม่ โดยให้ความสำคัญเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคในการให้บริการอย่างทั่วถึงในราคาที่เหมาะสม โดยมีขอบเขตการดำเนินกิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1) การขยายโครงข่ายเพื่อการเข้าถึงบรอดแบรนด์ในทุกเขตเศรษฐกิจเอเปคภายในปี 2558 2) การเผยแพร่ยุทธศาสตร์การช่วยเหลือเขตเศรษฐกิจเอเปคโดยใช้โครงข่ายบรอดแบรนด์ 3) การจัดหาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อคนพิการ 4) การนำเทคโนโลยี IPv6 มาใช้ในภูมิภาค และ 5) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน

3.2.2 การเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีขอบเขตการดำเนินกิจกรรม ได้แก่ 1) การพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมและบริการ 2) การพัฒนาและส่งเสริมการประยุกต์ใช้ไอซีที เช่น Smart Grids และ Sensor networks และ 3) การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้ไอซีที ได้แก่ Green ICT การเสริมสร้างเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ และการส่งเสริมการบริการออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3.2.3 การส่งเสริมความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีขอบเขตการดำเนินกิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การส่งเสริมและพัฒนาการเผยแพร่ยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมด้านไอซีที และมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภค 2) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยบนเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3) การยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 4) การร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 5) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อป้องกันกลุ่มเสี่ยงออนไลน์โดยเฉพาะเยาวชน และ 6) ส่งเสริมความปลอดภัยและศักยภาพเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตโดยส่งเสริมเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูล, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิส่วนบุคคล

3.2.4 การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีขอบเขตการดำเนินกิจกรรมหลักประกอบด้วย 1) การพัฒนานโยบายไอซีที และกรอบการกำกับดูแลการอำนวยความสะดวกการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเปค 2) การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมเรื่องการตรวจสอบและรับรองอุปกรณ์โทรคมนาคม และเรื่องความเท่าเทียมของข้อกำหนดทางเทคนิคสำหรับอุปกรณ์โทรคมนาคม 3) การส่งเสริมกฎเกณฑ์การแข่งขันและความโปร่งใสในการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ 4) การสร้างความตระหนักรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับกลไกการร้องเรียน ราคาค่าบริการและการใช้เทคโนโลยี และ 5) การมีส่วนร่วมในโครงการและการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการกำกับดูแลและสนับสนุนการแข่งขันและการลงทุนในตลาด

3.2.5 การเสริมสร้างความร่วมมือสาขาไอซีที ขอบเขตการดำเนินกิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1) การเสริมสร้างความร่วมมือด้านไอซีทีกับคณะทำงานอื่นๆ ภายใต้กรอบเอเปค ได้แก่ คณะทำงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คณะทำงานเฉพาะกิจเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น 2) การสนับสนุนและลดความซ้ำซ้อนโดยดำเนินงานร่วมกันกับองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) องค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Telecommunity: APT) เป็นต้น

4. ทก. เห็นว่า ร่างเอกสารทั้งสองฉบับมีสาระสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภูมิภาคเอเปค ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีในด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนโดยส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีต่างๆ อย่างเท่าเทียม และทั่วถึง รวมทั้งขยายโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ หลักการพื้นฐานของเอเปคคือ การเป็นเวทีสำหรับการปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เวทีการเจรจา และการดำเนินงานของเขตเศรษฐกิจเอเปคเป็นไปโดยสมัครใจและไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ดังนั้น การรับรองเอกสาร (endorse) ทั้งสองฉบับในระหว่างการประชุม TELMIN 8 โดยไม่มีการลงนาม จึงไม่น่าจะมีประเด็นเกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 วรรคสอง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ