คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างปฏิญญาฮานอยว่าด้วยการเสริมสร้างสวัสดิการและการพัฒนาของสตรีและเด็กอาเซียน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอเพื่อนำเสนอผู้นำอาเซียนพิจารณาลงนามให้การรับรองต่อไป ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าว ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) รายงานว่า
1. ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมในคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2553 ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยที่ประชุมได้มีมติรับรองเอกสารร่างปฏิญญาฮานอยว่าด้วยการเสริมสร้างสวัสดิการและการพัฒนาของสตรีและเด็กอาเซียน (Drafft Hanoi Declaration on the Enhancement of Welfare and Development of ASEAN Women and Children) และให้นำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 ให้การรับรอง โดยกำหนดประชุมในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2553 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
2. ร่างปฏิญญาดังกล่าวเป็นข้อเสนอของเวียดนาม ในฐานะประธานคณะมนตรีประชาสังคมและ วัฒนธรรมอาเซียน ประจำปี 2553 โดยเวียดนามได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมหารือระดับภูมิภาคเรื่อง ASEAN Regional Consultation on the Enhancement of Social Welfare and Development for Women and Children เพื่อทบทวนและหารือเกี่ยวกับแผนงานภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านสตรี และกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างปฏิญญาฯ และนำเสนอรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยสวัสดิการสังคมและการพัฒนาพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยในส่วนของไทย นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว
3. ร่างปฏิญญาฮานอยฯ เป็นเอกสารที่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนให้คำมั่นต่อการที่จะให้ความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียนในการเสริมสร้างสวัสดิการและการพัฒนาของสตรีและเด็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนภายในปี 2548 จึงไม่ได้มีนัยที่จะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง และไม่จำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาหรือมีผลผูกพันทางการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ อันจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพันตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อย่างไรก็ดี พม. เห็นควรขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะร่วมลงนามรับรอง
4. ร่างปฏิญญาฮานอยว่าด้วยการเสริมสร้างสวัสดิการและการพัฒนาของสตรีและเด็กอาเซียน มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อคุ้มครองเด็กและสตรี รวมทั้งการเร่งรัดให้มีการจัดตั้งกลไกต่าง ๆ อาทิ ระบบการจัดการความรู้ในระดับภูมิภาค สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลและการปฏิบัติที่ดี เครือข่ายอาเซียนเพื่อการพัฒนาครอบครัว เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว การจัดเสวนาเด็กอาเซียน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กในการสร้างประชาคมอาเซียน รวมถึง ASEAN Network Consortium เพื่อให้เป็นเครือข่ายสำหรับผู้ทำงานด้านการบริการทางสังคมต่อสตรีและเด็ก
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--