คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างเอกสารที่นายกรัฐมนตรีจะร่วมให้การรับรอง จำนวน 11 ฉบับ และร่างเอกสารที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมลงนามหรือรับรอง จำนวน 5 ฉบับ
2. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีร่วมรับรองร่างเอกสารที่นายกรัฐมนตรีจะร่วมให้การรับรอง และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมลงนามและร่วมรับรองร่างเอกสารที่เกี่ยวข้องกับพิธีสารของกฎบัตรอาเซียนว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทและกฎระเบียบว่าด้วยการเสนอข้อพิพาทที่มิอาจระงับได้ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนพิจารณา ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2553 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
สาระสำคัญของเรื่อง
ด้วยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 28 — 30 ตุลาคม 2553 ที่กรุงฮานอย โดยในระหว่างการประชุมดังกล่าว นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมลงนามหรือรับรองเอกสารสำคัญต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศ ดังนี้
1. เอกสารที่นายกรัฐมนตรีจะร่วมให้การรับรอง จำนวน 11 ฉบับ ได้แก่
1.1 ร่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน มีสาระสำคัญกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน รวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทาง และมาตรการเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งการเชื่อมโยงทางกายภาพ เส้นทางถนน ทางรถไฟ ทางน้ำ และทางอากาศ พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การประสานกฎ/ระเบียบด้านการขนส่งและคมนาคมให้สอดคล้องกัน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการขนส่งและการเดินทางข้ามแดน นอกจากนี้ ยังเน้นการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนอาเซียนมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน และรับรู้ซึ่งวัฒนธรรมของกันและกัน ทั้งนี้ แผนแม่บทฯ ได้ระบุถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ และกล่าวถึงกลไกที่จะช่วยในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้วย
1.2 ร่างปฏิญญาฮานอยว่าด้วยการรับรองแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน มีสาระสำคัญแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียนว่าจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ระบุไว้ในแผนแม่บทฯ โดยการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางและมาตรการในแผนแม่บทฯ และให้รายงานความคืบหน้าให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนทราบเป็นประจำ ทั้งนี้ ถ้อยคำในปัจจุบันของร่างเอกสารระบุให้รัฐสมาชิกต้องยึดถือและปฏิบัติตามแผนแม่บทฯ ตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้อันจะก่อให้เกิดพันธกรณีแก่รัฐสมาชิก และอาจไม่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของร่างปฏิญญาฯ ซึ่งมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการเพื่อปรับแก้ถ้อยคำเพื่อมิให้ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายต่อไป
1.3 ร่างแถลงข่าวร่วมของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน — ออสเตรเลีย มีสาระสำคัญเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและออสเตรเลียในทุกด้าน โดยกล่าวถึงบทบาทของออสเตรเลียในฐานะประเทศคู่เจรจาประเทศแรกของอาเซียน ทั้งนี้ ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและการค้ามนุษย์ รวมทั้งสนับสนุนอาเซียนในการรวมตัวทางเศรษฐกิจ เป็นเงิน 57 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม
1.4 ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน — จีนว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีสาระสำคัญเน้นความร่วมมือด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค โดยครอบคลุมความร่วมมือทั้งด้านการค้า การเงิน ความมั่นคงด้านพลังงาน และความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก การเกษตร การพัฒนาชนบท การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ การลดความยากจน การจัดการภัยพิบัติและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนกระบวนการรวมตัวกันของอาเซียนและการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน
1.5 ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อปฏิบัติตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ อาเซียน — จีนเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ค.ศ. 2011 — 2015 มีสาระสำคัญครอบคลุมสาขาความร่วมมือที่อาเซียนและจีนให้ความสำคัญ ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และความร่วมมือในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ครอบคลุมเรื่องการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตร ทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการลดความยากจน
1.6 ร่างแผนงานเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามหุ้นส่วนอาเซียน — อินเดียเพื่อสันติภาพความก้าวหน้า และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ค.ศ. 2010 — 2015 มีสาระสำคัญเพื่อดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบความสัมพันธ์อาเซียน — อินเดีย ระหว่างปี 2553 — 2558 โดยครอบคลุมทั้ง 3 มิติ คือ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งความร่วมมือในสาขาที่อินเดียให้ความสำคัญ เช่น สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการลดช่องว่างการพัฒนา ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงการดำเนินการตามกฎบัตรอาเซียน แผนงานสำหรับการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน และแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนเมื่อปี 2552
1.7 ร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษอาเซียน — นิวซีแลนด์ มีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและนิวซีแลนด์ โดยกล่าวถึงความสำเร็จในระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา และทิศทางความร่วมมือในอนาคต ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียน — นิวซีแลนด์ ค.ศ. 2010 — 2015 ทั้งในด้านการเมือง — ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม — วัฒนธรรม นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ประกาศที่จะให้ทุนแก่นักศึกษาอาเซียนปีละ 170 คน เป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนนักธุรกิจรุ่นใหม่เพิ่มพูนความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ และการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการเกษตร
1.8 ร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน — สาธารณรัฐเกาหลีเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง มีสาระสำคัญแสดงเจตนารมณ์ที่จะยกระดับความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนที่ครอบคลุมรอบด้านเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยกำหนดทิศทางและส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การพัฒนา ความร่วมมือในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยให้มีการจัดหาเงินทุนสนับสนุนโครงการความร่วมมือต่าง ๆ
1.9 ร่างแผนปฏิบัติการอาเซียน — สาธารณรัฐเกาหลีเพื่อปฏิบัติตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน — สาธารณรัฐเกาหลีเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ค.ศ. 2011 — 2015 มีสาระ สำคัญกำหนดแนวทางในการดำเนินการตามปฏิญญาร่วมฯ โดยครอบคลุมสาขาความร่วมมือทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม — วัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในประเด็นระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน สิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สาธารณสุขและการพัฒนาเพื่อลดความยากจน
1.10 ร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน — รัสเซีย ครั้งที่ 2 มีสาระสำคัญเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม — วัฒนธรรม และตกลงที่จะดำเนินการตามแนวทางและมาตรการในแถลงการณ์ร่วม ซึ่งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของรัสเซียในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน และในสถาปัตยกรรมของภูมิภาค รวมทั้งร่วมมือกันภายใต้หลักและบรรทัดฐานของกฎหมายระหว่างประเทศในการต่อสู้กับภัยคุกคามความมั่นคงและประเด็นปัญหาท้าทายในระดับโลก
1.11 ร่างปฏิญญาฮานอยในโอกาสครบรอบห้าปีของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกมีสาระสำคัญยืนยันบทบาทและความสำคัญของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงกรอบความร่วมมือที่มีอยู่และเสริมสร้างซึ่งกันและกัน เช่น อาเซียน+1 อาเซียน+3 และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในเอเชีย — แปซิฟิก และสนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในฐานะเป็นเวทีของผู้นำสำหรับการหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านยุทธศาสตร์ การเมือง และเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่สนใจและข้อกังวลร่วมกัน นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการเชิญรัสเซียและสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในปี 2554
2. เอกสารที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมลงนามหรือรับรอง จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่
2.1 ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือในการค้นหาและให้ความช่วยเหลือต่อประชาชนและเรือขนาดใหญ่ที่ประสบภัยทางทะเล มีสาระสำคัญกำหนดแนวทางในการมีความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น การมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาและให้ความช่วยเหลือทางทะเลของแต่ละประเทศสมาชิกเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างกัน สนับสนุนให้สร้างช่องทางและวิธีการสื่อสาร การแลกเปลี่ยนข้อมูลภายในอาเซียนและกับประเทศคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศสำหรับการค้นหาและให้ความช่วยเหลือทางทะเล การอำนวยความสะดวกให้การปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งหลักการให้ความช่วยเหลือในประเทศที่สามที่ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูต ทั้งนี้ ปฏิญญานี้จะไม่ละเมิดหรือยับยั้งประเทศสมาชิกอาเซียนจากการบังคับใช้สิทธิและขอบเขตอำนาจที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ
2.2 ร่างขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิในกรอบความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-อินเดีย เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 ให้แต่งตั้งกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อศึกษาและประเมินความสัมพันธ์ในระยะ 19 ปีทีผ่านมา ในเชิงโครงสร้างและศักยภาพ รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะ/มาตรการในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงข้อริเริ่ม/โครงการและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายและยุทธวิธีในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความร่วมมือ ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนของอาเซียน-อินเดีย ระหว่างปี 2553-2558 ให้เกิดผลสูงสุด และให้เสนอรายงานต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 9 ในปี 2554
2.3 ร่างกระบวนการสำหรับการรับเอกอัครราชทูตและการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนทางการทูตประจำอาเซียนของรัฐที่มิใช่สมาชิกอาเซียนและองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง มีสาระสำคัญระบุขั้นตอนและกระบวนการสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับเอกอัครราชทูตและการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนทางการทูตประจำอาเซียนของรัฐที่มิใช่สมาชิกอาเซียนหรือองค์การระหว่างประเทศต่างๆ โดยให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ
2.4 ร่างกฎระเบียบว่าด้วยการมอบอำนาจในการทำนิติกรรมตามกฎหมายภายใน มีสาระสำคัญกล่าวถึงกฎระเบียบในการมอบอำนาจให้เลขาธิการอาเซียน รองเลขาธิการอาเซียน หรือพนักงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนเป็นตัวแทนของอาเซียนในการทำนิติกรรมต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน
2.5 ร่างตราสารที่เกี่ยวข้องกับพิธีสารของกฎบัตรอาเซียนว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทและกฎระเบียบว่าด้วยการเสนอข้อพิพาทที่มิอาจระงับได้ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนพิจารณา มีสาระสำคัญแสดงเจตนารมณ์ให้ผนวกกฎระเบียบว่าด้วยการเสนอข้อพิพาทที่มิอาจระงับได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสารของกฎบัตรอาเซียนว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาท ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศได้ร่วมลงนามแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2553 ทั้งนี้ ร่างกฎระเบียบฯ ดังกล่าวได้กำหนดแนวทาง ขั้นตอน และระยะเวลาที่คู่กรณีในข้อพิพาทจะแจ้งให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนทราบถึงข้อพิพาทที่ไม่อาจระงับได้เพื่อเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนพิจารณา รวมทั้งสิทธิของคู่กรณีในการเพิกถอนการแจ้งเรื่องดังกล่าว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--