กรอบการเจรจาการจัดทำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนและการเข้าร่วมโครงการนำร่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 16:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบกรอบการเจรจาการจัดทำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนและการเข้าร่วมโครงการนำร่อง โดยการเข้าเป็นภาคีบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของภาคีสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมโครงการนำร่องสำหรับการดำเนินการระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของภูมิภาค (Memorandum of Understanding between the Governments of the Participating Member States of the Association of South-East Asian Nations (ASEAN) on the Pilot Project for the Implementation of a Regional Self — Certification System)

2. ให้เสนอกรอบการเจรจาการจัดทำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนเริ่มการเจรจา

3. นำเสนอบันทึกความเข้าใจตามข้อ1 โดยมีเอกสารภาคผนวกระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Operational Certification Procedures) แนบบันทึกความเข้าใจเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบเพื่อไทยจะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันสำหรับการภาคยานุวัตรเป็นภาคีสมาชิกของบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

ข้อเท็จจริง

กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอว่า

1. คณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HL TF-EI) เมื่อวันที่ 8-9 มีนาคม 2552 ได้มีมติให้นำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออก (Self — Certification หรือ SC) มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดภายในอาเซียนอย่างเสรี (Free Flow of ASEAN Origination Goods) โดยกำหนดให้มีโครงการนำร่อง (Pilot Project) ภายในไตรมาสที่สี่ของปี 2553 และมีการใช้ระบบดังกล่าวในการปฏิบัติจริงในปี 2555 ควบคู่ไปกับการใช้ระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเดิม

2. ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสทางเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting หรือ SEOM) เมื่อวันที่ 13-14 มิถุนายน 2552 เห็นชอบให้ประเทศสมาชิกจัดทำโครงการนำร่องสำหรับระบบ SC เพื่อให้หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบและผู้ประกอบการมีระยะเวลาในการปรับตัวก่อนการปฏิบัติจริงในปี 2555 โดยกำหนดให้เริ่มโครงการนำร่องในไตรมาสที่สี่ของปี 2553 และมีระยะเวลาโครงการ 1 ปี โดยให้จัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของภาคีสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมโครงการนำร่องสำหรับการดำเนินการระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของภูมิภาค มีเอกสารภาคผนวกระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Operational Certification Procedures) แนบ MOU ด้วย ทั้งนี้ อาเซียนจะนำประสบการณ์จากการทำโครงการนำร่องมาปรับปรุงระบบ SC ให้สมบูรณ์เพื่อรองรับระบบดังกล่าวในการปฏิบัติจริงในปี 2555 ควบคู่ไปกับการใช้ระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเดิม และจะปรับปรุงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน หรือ ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA) ต่อไป

3. ประเทศที่เข้าร่วมโครงการนำร่องแล้วมี 3 ประเทศ คือ บรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ และจะเริ่มดำเนินการโครงการนำร่องในวันที่ 1 ตุลาคม 2553

4. ประเทศไทยควรเข้าร่วมโครงการนำร่องดังกล่าว เพราะเห็นว่าระบบ SC จะส่งผลดีมากกว่าผลเสียในการช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียนในการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีนั้น สามารถเข้าร่วมโครงการนำร่องเมื่อใดก็ได้ขึ้นอยู่กับการตกลงกับประเทศภาคีในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน โดยจะต้องเข้าร่วมเป็นภาคีในบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าเป็นภาคี เมื่อมีการส่งมอบสัตยาบันสารหรือหนังสือแสดงการยอมรับไปยังเลขาธิการอาเซียน ซึ่งจะเป็นผู้แจ้งให้กับประเทศภาคีแต่ละประเทศต่อไปโดยทันที

5. กระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) เห็นว่า การจัดทำกรอบการเจรจาเพื่อจัดทำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนเป็นการเจรจารายละเอียดของแผนงานภายใต้เรื่องการเปิดตลาด สินค้าเป็นการดำเนินงานตามมาตรา 190 วรรคสาม และการภาคยานุวัตรบันทึกความเข้าใจและภาคผนวกระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า โดยการมอบสัตยาบันสารหรือหนังสือแจ้งการยอมรับถึงเลขาธิการอาเซียนถือเป็นหนังสือสัญญา เป็นการดำเนินงานตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงควรต้องเสนอให้ คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาพิจารณา

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กรอบการเจรจาการจัดทำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนและการเข้าร่วมโครงการนำร่อง เป็นการกำหนดหลักการในเรื่องระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต โดยมีหลักการที่สำคัญของระบบ คือ ต้องเป็นระบบที่ง่าย มีประสิทธิภาพในเชิงต้นทุน โดยมีความสมดุลกับความเชื่อถือได้คาดการณ์ได้ในอนาคต และมีความโปร่งใส

2. บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของภาคีสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมโครงการนำร่องสำหรับการดำเนินการระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของภูมิภาค และภาคผนวก เป็นการกำหนดให้มีโครงการนำร่องสำหรับการดำเนินการระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองในภูมิภาคเป็นการล่วงหน้าก่อนนำระบบดังกล่าวไปใช้กับประเทศสมาชิกทุกประเทศภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนในปี 2555 รวมทั้งกำหนดระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--


แท็ก อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ