การลงนามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรู

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 16:32 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งเปิดเสรีทางการค้า

และอำนวยความสะดวกทางการค้าปี พ.ศ. 2548

คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

1. เห็นชอบร่างพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 เพื่อแก้ไขกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งเปิดเสรีทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าปี พ.ศ. 2548 และอนุมัติการลงนามและนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้เอกสารดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไป

2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการ หรือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามและให้รัฐมนตรีว่าการ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณาแก้ไขข้อความที่ไม่มีนัยสำคัญได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจ (Full Power) ให้รัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ระหว่างการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 12 — 14 พฤศจิกายน 2553 ณ ประเทศญี่ปุ่น

4. มอบหมายให้อธิบดีกรมเจาจาการค้าระหว่างประเทศหรือผู้แทน เป็นผู้ลงนามกำกับพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3

5. เมื่อรัฐสภาเห็นชอบตามข้อ 1. แล้วมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามสัญญา และมอบกระทรวงการต่างประเทศแจ้งภาคีคู่สัญญาทราบเพื่อให้หนังสือสัญญามีผลใช้บังคับต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 เป็นการแก้ไขถ้อยคำในข้อ F และ G ของบทบัญญัติข้อ 3 ภาคผนวก 2 เรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าในพิธีสารฯ ปี พ.ศ. 2548 โดยได้มีการตัดคำว่า “Territorial Sea” และ “Continental Shelf” ออก และคณะเจรจาได้พิจารณาใช้คำอื่นแทน ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีความหมายเช่นเดียวกันและสอดคล้องกับกฎหมายภายในของไทยและเปรู และไม่ทำให้ผลประโยชน์ของประเทศไทยลดลงไปกว่าที่เจรจาไว้เดิม

2. การเพิ่มถ้อยคำเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้าที่ได้จากการทำประมงในทะเลหลวงในข้อ F โดยเรือที่เข้าไปทำการประมงในเขตทะเลหลวงต้องมีการจดทะเบียนหรือมีประวัติกับประเทศภาคีและต้องมีการชักธงของประเทศภาคี โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ประเทศภาคี มาใช้ประโยชน์จากความตกลงนี้

3. การเพิ่มข้อบทเกี่ยวกับการค้าผ่านประเทศที่สาม (Third Party Invoicing) จะทำให้ประเทศไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับสินค้าส่งออกของไทยที่มีวิธีดำเนินธุรกิจผ่านประเทศที่สามมากขึ้นทั้งสินค้าเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ