สรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 10 กันยายน — 18 ตุลาคม 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 17:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 10 กันยายน — 18 ตุลาคม 2553) ของกระทรวงมหาดไทย ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย (ระหว่างวันที่ 10 กันยายน-16 ตุลาคม 2553)

พื้นที่ประสบภัยโดยภาพรวมทั้งประเทศ 38 จังหวัด 161 อำเภอ 772 ตำบล 4,513 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดน่าน กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ลำปาง เชียงราย สุโขทัย ลำพูน กาญจนบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สิงห์บุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครปฐม นนทบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสาคร อ่างทอง สมุทรสงคราม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ตราด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี และจังหวัดตรัง) ราษฎรได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด 208,446 ครัวเรือน 675,347 คน ดังนี้

ลำดับที่       ประเภทความเสียหาย                            จำนวนความเสียหาย
1           พื้นที่ประสบอุทกภัย                               38 จังหวัด  161 อำเภอ 772 ตำบล 4,513 หมู่บ้าน
2           ประชาชนได้รับความเดือดร้อน                      675,347 คน 208,446 ครัวเรือน
3           บ้านเรือนเสียหายบางส่วน                         10 หลัง
4           ถนนเสียหาย                                   1,859 สาย
5           สะพาน                                       65 สะพาน
6           บ่อปลา/กุ้ง                                    3,000 บ่อ
7           ปศุสัตว์                                       3,543 ตัว
8           สัตว์ปีก                                       3,115 ตัว
9           พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นประมาณ              683,707 ไร่
10          ทำนบ                                        6 แห่ง
11          ฝาย                                         116 แห่ง
12          เหมือง                                       30 แห่ง
13          วัด                                          32 แห่ง
14          โรงเรียน                                     37 แห่ง
15          สถานที่ราชการ                                 5 แห่ง
16          พนังกั้นน้ำ                                     1 แห่ง
17          ท่อระบายน้ำ                                   254 แห่ง
18          มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น                        365,833,405 บาท

การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ อปพร. อส. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดส่งเรือท้องแบน จำนวน 28 ลำ รถยนต์/รถบรรทุก 21 คัน และได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยมอบถุงยังชีพ จำนวน 23,790 ชุด น้ำดื่ม 7,300 ขวด ยารักษาโรค 3,450 ชุด และข้าวกล่อง 2,485 กล่อง พร้อมเร่งออกสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป

2. สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ภาคกลาง และภาคตะวันออก และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ระหว่างวันที่ 10-18 ตุลาคม 2553)

2.1 พื้นที่ประสบภัย 8 จังหวัด 31 อำเภอ 206 ตำบล ได้แก่ จังหวัดระยอง ตราด สระแก้ว นครราชสีมา ปราจีนบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ และจังหวัดชัยภูมิ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย (จ.ระยอง จ.ตราด) ดังนี้

1) จังหวัดระยอง

(1) อำเภอวังจันทร์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2553 เวลาประมาณ 23.00 น. ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้ทำนบกั้นน้ำของสนามกอล์ฟอุทยานกอล์ฟวังจันทร์ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง พังทลาย เมื่อเวลา 03.00 น. ของวันที่ 11 ตุลาคม 2553 พื้นที่ได้รับความเสียหาย 2 ตำบล 8 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลป่ายุบใน 4 หมู่บ้าน (หมู่ที่ 1,2,5,6) และตำบลชุมแสง 4 หมู่บ้าน (หมู่ที่ 1,3,6,8) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 130 ครัวเรือน 520 คน สิ่งสาธารณประโยชน์และทรัพย์สินของราษฎรได้รับความเสียหาย สำนักสงฆ์น้ำตกธรรมรส ถนน 2 สาย คอสะพานชำรุด 2 แห่ง ท่อระบายน้ำ 5 แห่ง พืชสวน 1,150 ไร่ มีผู้เสียชีวิต 1 คน ชื่อ นางดวนสี เชื้อกาญใหญ่ อายุ 46 ปี ภูมิลำเนาอยู่ตามทะเบียนบ้าน เลขที่ 279 หมู่ที่ 9 ตำบลโพธิ์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ

(2) อำเภอเมืองระยอง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2553 เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ ตำบลตะพง (หมู่ที่ 1,2,5,7,12,21)

การให้ความช่วยเหลือ จังหวัดระยอง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง อำเภอวังจันทร์ สภ.วังจันทร์ อบต.ป่ายุบใน มูลนิธิฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกค้นหาผู้สูญหาย และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น ผู้แทนสนามกอล์ฟอุทยานกอล์ฟวังจันทร์ ได้นัดผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับความเสียหาย มาเจรจาเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัย ในวันที่ 12 ตุลาคม 2553 เวลา 10.00 น. ณ ที่ทำการ อบต.ป่ายุบใน โดยมี อำเภอวังจันทร์ สภ.วังจันทร์ อบต.ป่ายุบใน ผู้แทนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเจรจาด้วย

2) จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2553 ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่

(1) อำเภอเกาะช้าง ที่ตำบลเกาะช้าง (หมู่ที่ 4) ดินถล่มและทับบ้านพักคนงาน บริเวณบ้านหาดทรายขาว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1คน ชื่อนางรี โค๊ก อายุ 44 ปี และผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ชื่อนายดิน แวน อายุ 28 ปี (ซึ่งเป็นคนงานต่างด้าว ชาวกัมพูชา) ดินถล่มทับเส้นทางคมนาคม สายหาดทรายขาว-บ้านบางเบ้า เสาไฟฟ้าแรงสูงโค่นล้ม จำนวน 13 ต้น

(2) อำเภอแหลมงอบ เกิดน้ำป่าไหลหลาก ในตำบลบางปิด (หมู่ที่ 3,7) ราษฎรเดือดร้อน 35 คน 15 ครัวเรือน

การให้ความช่วยเหลือ จังหวัดตราด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด อำเภอเกาะช้าง เทศบาลตำบลเกาะช้าง สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดตราด เหล่ากาชาดจังหวัดตราด หน่วยทหารนาวิกโยธินตราด หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 14 สำนักงานการไฟฟ้าจังหวัดตราด มูลนิธิฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือ โดยเหล่ากาชาดจังหวัดตราด มอบเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิต 5,000 บาท และผู้ได้รับบาดเจ็บ 3,000 บาท หน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน ได้นำส่งผู้รับบาดเจ็บโดยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อรักษาอาการต่อที่โรงพยาบาลตราด

3) จังหวัดสระแก้ว ได้เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ 4 อำเภอ 10 ตำบล 1 เทศบาล ได้แก่ อำเภออรัญประเทศ อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง ความเสียหายอยู่ระหว่างสำรวจ

การให้ความช่วยเหลือ

  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 ปราจีนบุรี สนับสนุนเรือท้องแบน 7 ลำ และเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือที่ตลาดโรงเกลือ อำเภออรัญประเทศ
  • สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสระแก้ว สนับสนุน ถุงยังชีพ 100 ชุด
  • กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์,หน่วยเฉพาะกิจทหารพราน 12 กองร้อย ตชด.126 จังหวัดทหารบกสระแก้ว หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ จัดกำลังพลพร้อมยานพาหนะ กระสอบทราย เข้าช่วยเหลือที่ตำบลบ้านด่าน อำเภออรัญประเทศ
  • กาชาดจังหวัดสระแก้ว สนับสนุน ถุงยังชีพ 100 ชุด ยาสามัญประจำบ้าน 100 ชุด

4) จังหวัดนครราชสีมา ในช่วงระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม 2553 ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมในพื้นที่ 14 อำเภอ 112 ตำบล 1,040 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอปากช่อง 8 ตำบล อำเภอโชคชัย 10 ตำบล อำเภอปักธงชัย 11 ตำบล อำเภอเมืองนครราชสีมา 11 ตำบล อำเภอสูงเนิน 11 ตำบล อำเภอด่านขุนทด 16 ตำบล อำเภอสีคิ้ว 8 ตำบลอำเภอเฉลิมพระเกียรติ 5 ตำบล อำเภอเสิงสาง 6 ตำบล อำเภอพระทองคำ 5 ตำบล อำเภอขามทะเลสอ 4 ตำบล อำเภอเทพารักษ์ 5 ตำบล อำเภอโนนทัย 10 ตำบล และอำเภอคง 2 ตำบล

  • ในตัวเมืองนครราชสีมา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา หมู่บ้านการเคหะแห่งชาติ และหมู่บ้านเคียงเคหะ
  • ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สั่งให้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดนครราชสีมา ณ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ณ ห้องประชุมท้าวสุรนารี ชั้น 1 ถนนมหาดไทย

การให้ความช่วยเหลือ

  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา จัดส่งเรือท้องแบน 12 ลำ รถไฟฟ้าส่องสว่าง 1 คัน รถบรรทุกติดเครน 4 คัน รถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน รถขุดตักดิน 2 คัน รถบรรทุกขนาดใหญ่ 6 คัน เครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานวันละ 40 นาย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 6 ขอนแก่น จัดส่งเรือท้องแบน 10 ลำ เจ้าหน้าที่ 10 นาย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร จัดส่งเรือท้องแบน 8 ลำ รถบรรทุก 1 คัน รถเครน 1 คัน กำลังพล 6 นาย
  • สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนคราชสีมา จัดกำลังพล 5 นาย รถบรรทุก 2 คัน เข้าช่วยเหลือในเบื้องต้นและเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป

5) จังหวัดปราจีนบุรี ได้เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาดี ตำบลบุพราหมณ์ (หมู่ที่ 3,10) อำเภอกบินทร์บุรี บริเวณสวนอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี และโรงแรมเอกระวี และ อำเภอกบินทร์บุรี ตำบลหนองกี่ (หมู่ที่ 4) ชุมชนตลาดเก่าเทศบาลตำบลกบินทร์บุรี (ความเสียหายอยู่ระหว่างสำรวจ)

6) จังหวัดลพบุรี ได้เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ 11 อำเภอ 75 ตำบล 356 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองลพบุรี 9 ตำบล อำเภอโคกสำโรง 13 ตำบล อำเภอชัยบาดาล 16 ตำบล อำเภอพัฒนานิคม 6 ตำบล อำเภอลำสนธิ 6 ตำบล อำเภอท่าหลวง อำเภอหนองม่วง 1 ตำบล อำเภอสระโบสถ์ 5 ตำบล อำเภอโคกเจริญ 5 ตำบล อำแภอบ้านหมี่ 7 ตำบล และอำเภอท่าวุ้ง 6 ตำบล

การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น

  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี สนับสนุนเรือท้องแบน 8 ลำ เจ้าหน้าที่ 10 นาย รถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 16 ชัยนาท สนับสนุนเรือท้องแบน 10 ลำ เจ้าหน้าที่ 12 นาย
  • มทบ.13 และ นศส. สนับสนุนเรือท้องแบน รถบรรทุก GMC พร้อมกำลังพล 500 นาย
  • สภากาชาดไทย สนับสนุนเรือท้องแบน 4 ลำ รถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน

7) จังหวัดนครสวรรค์ ได้เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่อำเภอท่าตะโก 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าตะโก ทำนบ และตำบลหัวถนน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

8) จังหวัดชัยภูมิ ได้เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านเพชร หัวทะเล และตำบลบ้านชวน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

  • จังหวัดสระบุรี ได้เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ อำเภอมวกเหล็ก อำเภอเสาไห้ และ อำเภอเมือง ตำบลหนองปลาไหล (ความเสียหายอยู่ระหว่างสำรวจ)
  • จังหวัดศรีสะเกษ ได้เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำได้ล้นสปิลเวย์อ่างเก็บน้ำห้วยตาจู (บ้านตานวมหมู่ที่ 3) เข้าท่วมในพื้นที่ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ (ความเสียหายอยู่ระหว่างสำรวจ)
  • จังหวัดนครนายก ได้เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่อำเภอบ้านนา 2 ตำบลได้แก่ ตำบลป่าขะ และตำบลบ้านนา ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 500 ครัวเรือน 1,500 คน (ความเสียหายอยู่ระหว่างสำรวจ)
  • จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่อำเภอวิเชียรบุรี 14 ตำบล ได้แก่ ตำบลโคกปรง ท่าโรง น้ำร้อน บ่อรัง ยางสาว ซับสมบูรณ์ ซับน้อย บึงกระจับ สามแยก สระประดู่ พุเตย พุขาม วังใหญ่ และตำบลน้ำหยด (ความเสียหายอยู่ระหว่างสำรวจ)
  • จังหวัดระยอง ได้เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่อำเภอเมือง 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลทับมา (หมู่ที่ 2,3,4,6) ตะพง (หมู่ที่ 1,2,5,7,11,12,13,15,16) เนินพระ (หมู่ที่ 1-7) และตำบลเชิงเนิน (หมู่ที่2,3,4,7)
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย ประกาศปิดเส้นทางรถไฟสายเหนือ (สถานีช่องแค-สถานีจันเสน สทล.ที่ 176/4-10) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สถานีโคกกรวด-สถานีกุดจิก สทล.ที่ 246/248)

2.2 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ

1) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี จัดส่งเรือท้องแบน จำนวน 15 ลำ รถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน ถุงยังชีพ จำนวน 1,000 ถุง เต๊นท์พักอาศัยชั่วคราว จำนวน 15 หลัง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และจังหวัดลพบุรี
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 ปราจีนบุรี สนับสนุนเรือท้องแบน 7 ลำ รถเครน 1 คัน กำลังพล 5 นาย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จังหวัดสระแก้ว
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ สนับสนุนเรือท้องแบน จำนวน 5 ลำ เครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง กำลังพล 10 นาย ถุงยังชีพ 500 ถุง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จังหวัดเพชรบุรี
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา จัดส่งเรือท้องแบน 12 ลำ รถไฟฟ้าส่องสว่าง 1 คัน รถบรรทุกติดเครน 1 คัน เจ้าหน้าที่ 40 นาย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จังหวัดนครราชสีมา
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 6 ขอนแก่น จัดส่งเรือท้องแบน 15 ลำ เจ้าหน้าที่ 10 นาย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จังหวัดนครราชสีมา
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร จัดส่งเรือท้องแบน 18 ลำ รถบรรทุก 1 คัน รถเครน 1 คัน กำลังพล 6 นาย รถบรรทุกขวดน้ำดื่ม 10,000 ขวด 1 คัน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จังหวัดนครราชสีมา
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 8 กำแพงเพชร จัดส่งชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต จำนวน 10 คน รถบรรทุกเล็ก จำนวน 2 คัน สนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ ตำบลดงเสือเหลือง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย สนับสนุนรถแบ็กโฮ จำนวน 1 คัน สนับสนุนสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดเชียงรายในพื้นที่ตำบลวาวี รถบรรทุกน้ำ จำนวน 2 คัน สนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 17 จันทบุรี สนับสนุนเรือท้องแบน จำนวน 9 ลำ ถุงยังชีพ จำนวน 1,800 ถุง รถไฟฟ้าส่องสว่าง 1 คัน รถแบ็คโฮ 1 คัน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี จัดรถรถแบ็คโฮ 2 คัน เจ้าหน้าที่ 10 นาย รถน้ำ 4 คัน รถผลิตน้ำ 2 คัน รถบรรทุกเทท้าย 2 คัน เต๊นท์พักผู้ประสบภัย จำนวน 30 หลัง ยาสามัญประจำบ้าน 190 ราย และรักษาผู้ป่วย 53 ราย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ จังหวัดระยองและจังหวัดตราด และจัดส่งวิศวกรสำรวจอ่างเก็บน้ำที่สันเขื่อนทรุด ที่ตำบลเขาสก อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี โดยส่งรถขุดเพื่อระบายน้ำออก

2) กรมชลประทาน

ได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,200 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้ให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 924 เครื่อง ในพื้นที่ 58 จังหวัด

3) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก

  • ศบภ.ทบ.21 จัดกำลังพล 17 นาย เครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว สะพานเหล็ก เข้าช่วยที่จังหวัดนครราชสีมา
  • จทบ.บ.ร. ร่วมกับ ฉก.ทพ.26 จัดกำลังพล จำนวน 30 นาย รถบรรทุก 3 คัน เข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์
  • พัน สท.กส.ทบ.จัดกำลังพล จำนวน 40 นาย รถบรรทุก 4 คัน ช่วยประชาชนขนย้ายสิ่งของ ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
  • จทบ.น.น. จัดกำลังพล 24 นาย รยบ. 1 คัน และเรือพระราชทาน 1 ลำ เข้าให้การช่วยเหลือในการขนย้ายสิ่งของ และรับ-ส่งประชาชน ที่หมู่บ้านแสงดาว หมู่บ้านท่าล้อ ต.ฝายแก้ว อ.ภูเพียง และหมู่บ้านภูมินทร์-ท่าลี่ ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน
  • กองทัพภาคที่ 2 จัดกำลังพล และรถแบ็กโฮ จำนวน 10 คัน ให้การช่วยเหลือราษฎรสร้างแนวคันกันน้ำ ในพื้นที่ตำบลหนองบัวศาลา (หมู่ที่2,8,10) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
  • พล.พัฒนา 1 จัดกำลังพล จำนวน 62 นาย รยบ.ขนาดใหญ่ จำนวน 1 คัน รยบ.จำนวน 10 คัน เทท้าย จำนวน 1 คัน รถโกยตัก จำนวน 1 คัน รยบ.ขนาดเล็ก (ปิคอัพ) จำนวน 2 คันและเรือท้องแบน จำนวน 5 ลำ เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในการสัญจรไปมา ในพื้นที่ ตำบลบ่อกระดาน อำเภอปากท่อ,ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง และตำบลรางบัว ตำบลจอมบึง ตำบลเบิกไพร และตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
  • ร.9 พัน 3 จัดกำลังพล ร่วมกับ อบต.หนองไผ่ เข้าช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของให้กับผู้ประสบอุทกภัย บริเวณบ้านหินแด้น และแจกข้าวกล่อง น้ำดื่ม ในพื้นที่ ตำบลหนองไผ่ อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี และจัดชุดเสนารักษ์ เข้าไปให้บริการทางการแพทย์ ในพื้นที่ บ้านท่าแย้ ตำบลด่านมะขามเตี้ย อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี
  • ป.พัน.9 จัดกำลังพล 2 นาย รยบ. 1 1/4 ตัน จำนวน 2 คัน รยบ.ขนาดกลาง (ไดน่า) จำนวน 1 คัน และเรือท้องแบน จำนวน 1 ลำ เข้าให้การช่วยเหลือผู้อพยพประสบอุทกภัยจากน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมที่อยู่อาศัย และเส้นทางสัญจรไปมา บริเวณ บ้านหนองหมู หมู่ที่ 6 บ้านวังทอง หมู่ที่ 12 บ้านวังเงิน หมู่ที่ 14 และบ้านไร่พัฒนา หมู่ที่ 17 ตำบลหลุมรัง อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี
  • พล.1 รอ. โดย ร.11 พัน.3 รอ. จัดกำลังพล จำนวน 15 นาย รถยนต์ปกติขนาดเล็ก จำนวน 1 คัน รยบ.1 1/4 ตัน จำนวน 2 คัน เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วยการจัดแนวกระสอบทรายกั้นทาง น้ำไหล สนับสนุนยานพาหนะบรรทุกถุงยังชีพ และสูบน้ำออก ในพื้นที่ ตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
  • พล.ร.2 รอ. (ร.2 รอ.) จัดกำลังพล จำนวน 23 นาย รยบ.1 1/4 ตัน จำนวน 2 คัน ออกเตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเขตพื้นที่ ตำบลโพธิ์งาม อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
  • ร.12 รอ.(ร.12 พัน.1 รอ.) จัดกำลังพล จำนวน 19 นาย เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในการขนย้ายสิ่งของในเขตพื้นที่ เทศบาล อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
  • ร.12 รอ.(ร.12 พัน.3 รอ.) จัดกำลังพล จำนวน 20 นาย เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในการขนย้ายสิ่งของในเขตพื้นที่ บ้านใหม่ไทรทอง เทศบาลเมืองอำเภออรัญประเทศ และตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว
  • พล.พัฒนา 2 (ช.2) จัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ให้การช่วยเหลือผู้ประสบ อุทกภัยในพื้นที่ ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
  • พล.ร.3 (ช.พัน.3) จัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อำเภอเมือง และอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
  • ศบก.มทบ.21 จัด รยบ.ขนาดใหญ่ จำนวน 2 คัน และเรือท้องแบน 2 ลำ สนับสนุน รพ.หัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

4) สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

(1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้พระราชทาน ถุงยังชีพ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เพชรบูรณ์ แพร่ พะเยา น่าน ชัยนาท อ่างทอง มหาสารคาม กาฬสินธุ์ เพชรบุรี กาญจนบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี รวมจำนวน 61,350 ครอบครัว

(2) สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้นำชุด ธารน้ำใจพระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง แพร่ นครสวรรค์ เชียงราย อุตรดิตถ์ พิจิตร นครนายก เพชรบูรณ์ อุดรธานี หนองคาย นนทบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี ชัยนาท กาญจนบุรี สมุทรสาคร และจังหวัดสุพรรณบุรี รวมจำนวน 22,330 ชุด น้ำดื่ม 201,640 ขวด และจังหวัดสมุทรสาคร ดังนี้

  • เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2553 พลโท นายแพทย์อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย พร้อมคณะ ร่วมกับ นางผ่องเพ็ญ แสงจันทร์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร และคณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร นำชุดธารน้ำใจฯ พระราชทาน มอบให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบน จำนวน 1,000 ชุด ณ หอประชุมโรงเรียนศรีบุญยานุสสรณ์ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

(3) กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง แพร่ แม่ฮ่องสอน น่าน สกลนคร พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี เพชรบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี รวมจำนวน 9,050 ชุด

(4) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากสภากาชาดไทย ทรงโปรดให้ผู้แทน พระองค์ฯ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แพร่ ลำพูน อุตรดิตถ์ ปทุมธานี ชัยภูมิ กาญจนบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรีรวมจำนวน 14,107 ถุง และอาหารกล่อง จำนวน 3,500 กล่อง

3. การตรวจเยี่ยมประชาชนและติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2553

3.1 นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) พร้อมคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมราษฎร และตรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

3.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมราษฎรและมอบถุงยังชีพ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอปากช่อง จำนวน 1,000 ถุง และที่โรงเรียนบ้านโนนกุ่ม อำเภอสีคิ้ว จำนวน 1,000 ถุง

3.3 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) พร้อมคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมราษฎรและมอบถุงยังชีพ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่อำเภอเมืองนครราชสีมา จำนวน 300 ชุด และที่อำเภอปักธงชัย จำนวน 300 ชุด

4. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2553

4.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในวันที่ 18 ตุลาคม 2553 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ จากนั้นในช่วงวันที่ 19-23 ตุลาคม 2553 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวอากาศจะเย็นลง สำหรับบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังคงมีฝนหนาแน่นต่อเนื่องไปอีก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรงในระยะนี้ ขอให้ประชาชนบริเวณในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและที่ราบลุ่มบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้สภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังตลอดช่วง

อนึ่ง ในวันที่ 18-19 ตุลาคม 2553 พายุไต้ฝุ่น “เมกิ” จะเคลื่อนผ่านเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ และลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนต่อไป

4.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต และทรัพย์สิน ตลอดจนพืชผลทางการเกษตรของประชาชน และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ