คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ราชบัณฑิตยสถานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริง
ราชบัณฑิตยสถานเสนอว่า ในปัจจุบันการให้บริการของราชบัณฑิตยสถานยังตอบสนองต่อกลุ่มผู้รับบริการได้ไม่ทั่วถึงเพียงพอ และไม่สามารถรักษามาตรฐานระยะเวลาการให้บริการให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ได้ เนื่องจาก ผู้ปฏิบัติงานมีจำนวนน้อยและต้องปฏิบัติภารกิจด้านการสร้างองค์ความรู้และภารกิจด้านการให้บริการทางวิชาการไปพร้อมๆ กัน ทำให้การดำเนินงานยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงเห็นควรให้แยกภารกิจทั้งสองด้านดังกล่าวออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ทันเวลา สมควรปรับปรุง พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 โดยให้อำนาจของราชบัณฑิตยสถานจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษเพื่อให้มีความคล่องตัวในการให้บริการทางวิชาการแก่ประชาชนและแยกบุคลากรที่ปฏิบัติภารกิจด้านการสร้างองค์ความรู้และ ภารกิจด้านการบริการทางวิชาการออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้ภาระงานของเจ้าหน้าที่ลดลง และบุคลากรมีความเชี่ยวชาญในงานเฉพาะด้านเพิ่มขึ้นและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กำหนดให้จัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษของราชบัณฑิตยสถานเพื่อบริการสนับสนุนภารกิจของราชบัณฑิตยสถานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 3)
2. กำหนดให้ราชบัณฑิตยสถานอาจมีรายได้จากเงินค่าธรรมเนียม ค่าสมนาคุณ และค่าบริการต่าง ๆของราชบัณฑิตยสถาน และรายได้หลังหักรายจ่ายของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ โดยรายได้ที่เกิดจากการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง นอกจากนั้น กำหนดให้สภาราชบัณฑิตมีอำนาจในการออกข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินและพัสดุในการบริหารรายได้ (ร่างมาตรา 4 และร่างมาตรา 6)
3. กำหนดให้สภาราชบัณฑิตมีอำนาจเลือกและเสนอแต่งตั้งเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานต่อนายกรัฐมนตรี (ร่างมาตรา 7)
4. กำหนดให้มีเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของราชบัณฑิตยสถาน ขึ้นตรงต่อนายกราชบัณฑิตยสถานและปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามนโยบาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติและคำสั่งของสภาราชบัณฑิตและนายกราชบัณฑิตยสถาน และให้มีรองเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการด้วย (ร่างมาตรา 9)
5. กำหนดให้ในการเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี การเสนอคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี การขอกำหนดตำแหน่งหรืออัตราข้าราชการให้นายกราชบัณฑิตยสถานเป็นผู้ลงนามเสนอ (ร่างมาตรา 10)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 ตุลาคม 2553--จบ--