มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 27, 2010 14:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2553 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้เสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 เพื่อรับทราบ สถานการณ์ อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือของกระทรวงมหาดไทย ระหว่างวันที่ 10 กันยายน 2553 — 18 ตุลาคม 2553 ในการนี้กระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วเห็นว่าอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหาย ทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ และเกษตรกร ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2553 ในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปมีดังนี้

1. ความคล่องตัวด้านการเงินเพื่อให้ส่วนราชการให้ความช่วยเหลือ (กรมบัญชีกลาง) เพื่อให้ส่วนราชการมีความคล่องตัวด้านการเงินในการให้ความช่วยเหลือความเดือดร้อนเฉพาะหน้า มีดังนี้

1.1 จังหวัดแต่ละจังหวัดมีเงินทดรองราชการที่สามารถเบิกใช้ได้ทันที ในวงเงิน 50 ล้านบาท หากไม่ เพียงพออธิบดีกรมบัญชีกลางสามารถอนุมัติวงเงินให้ได้อีก 200 ล้านบาท (รวมเป็น 250 ล้านบาท) และปลัดกระทรวงการคลังมีอำนาจอนุมัติวงเงินเพิ่มขึ้นถึง 500 ล้านบาท หากเกินกว่านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้อนุมัติ

1.2 การจัดซื้อพัสดุต่างๆ โดยใช้เงินทดรองราชการ ได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ โดยเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่หนึ่งคนหรือหลายคนทำการจัดซื้อ และตรวจรับไปก่อน แล้วจึงรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดภายหลัง

1.3 การขอขยายวงเงินทดรองราชการเป็นเรื่องที่จังหวัดจะแจ้งผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งในการปฏิบัติงานร่วมกันที่ผ่านมาของกรมบัญชีกลางกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย และจังหวัดได้มีการประสานงานภายในกันอย่างใกล้ชิด จึงมีความรวมเร็ว ทันต่อสถานการณ์

2. มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุ ที่ได้รับความเดือดร้อน (กรมธนารักษ์)

เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุ ที่ได้รับความเดือดร้อนได้มีแนวทางดังนี้

2.1 ผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย ให้พิจารณาความเสียหายของอาคารที่พักอาศัย หากอาคารที่พักอาศัยเสียหายบางส่วนให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 1 ปี หากอาคารที่พักอาศัยเสียหายทั้งหลังให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 2 ปี

2.2 ผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบการเกษตร หากพืชหรือผลผลิตได้รับความเสียหายให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 1 ปี โดยมีข้อมูลการรับรองความเสียหายจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

2.3 ผู้เช่าอาคารราชพัสดุ หากผลกระทบจากอุทกภัยทำให้ผู้เช่าอาคารราชพัสดุไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ เป็นเวลาเกิน 3 วัน ให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 1 เดือน

2.4 ให้ยกเว้นการคิดเงินเพิ่ม กรณีที่ผู้เช่าไม่สามารถชำระค่าเช่า ค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใดที่ต้องชำระภายในกำหนดระยะเวลา โดยเหตุมาจากการเกิดอุทกภัยดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัย

3. ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

3.1 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธ.ก.ส. มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่ประสบอุทกภัย ปีบัญชี 2553 ดังนี้

3.1.1 กรณีเกษตรกรลูกค้าเสียชีวิตจากอุทกภัย จะจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญโดย ธ.ก.ส. รับภาระเอง

3.1.2 กรณีเกษตรกรลูกค้าประสบภัยอย่างร้ายแรงและไม่เสียชีวิต

(1) หนี้เงินกู้เดิมที่มีอยู่ก่อนประสบภัย

(1.1) ขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2553 — 2555

(1.2) งดคิดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2553 — 2555 โดย ธ.ก.ส. จะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลตามอัตราดอกเบี้ย MRR-1 ซึ่งขณะนี้มีอัตราดอกร้อยละ 5.75 ต่อปี

(1.3) หากการให้ความช่วยเหลือตามข้อ (1.1) และ (1.2) ยังคงเป็นภาระหนักแก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้

(2) การให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต

(2.1) ให้เงินกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท

(2.2) ลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติที่ ธ.ก.ส. เรียกเก็บจากเกษตรกรลูกค้า ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี โดย ธ.ก.ส. จะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี

(2.3) กำหนดชำระหนี้เงินกู้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรลูกค้าโดย ธ.ก.ส. จะลดหย่อนหลักประกันการกู้เงินจากหลักเกณฑ์ปกติ ดังนี้

(2.3.1) กรณีกู้เงินโดยจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกัน ให้ขยายวงเงินกู้จากที่กู้ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของวงเงินจดทะเบียนจำนอง เป็นให้กู้ได้ไม่เกินวงเงินจดทะเบียนจำนอง

(2.3.2) กรณีกู้เงินโดยใช้กลุ่มลูกค้ารับรองรับผิดชอบอย่างลูกหนี้ร่วมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ให้ขยายวงเงินในการประกันจากรายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท

ทั้งนี้ ในปี 2553 หากปรากฏว่าเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ประสบอุทกภัยเพิ่มขึ้นทั้งในเขตพื้นที่เดิมและในพื้นที่อื่น ๆ อีก ธ.ก.ส. ขอถือใช้มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าดังกล่าวเช่นเดียวกัน

3.2 ธนาคารออมสิน ธนาคารออมสินมีมาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบอุทกภัย ดังนี้

3.2.1 หนี้เงินกู้เดิม ลูกค้าสินเชื่อเดิมของธนาคารและลูกค้าสินเชื่อเคหะให้พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และให้ติดต่อขอความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2553

(1) ลูกค้าสินเชื่อเดิม : ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ออกไปอีกไม่เกิน 6 เดือน

(2) ลูกค้าสินเชื่อเคหะ : ปรับลดเงินงวด หรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 30 ปี

(3) ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจและ SMEs : ให้พักชำระหนี้เงินต้นเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ออกไปอีกไม่เกิน 1 ปี และสามารถกู้เพิ่มเป็นเงินทุนหมุนเวียน ไม่เกินรายละ 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ลบ ร้อยละ 1.5 (ตลอด 5 ปี)

(4) ลูกค้าสินเชื่อ ธุรกิจห้องแถว : จะให้กู้ไม่เกินรายละ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MLR — 1.5 ต่อปี

3.2.2 เงินกู้ใหม่ ลูกค้าสินเชื่อเคหะเดิมและประชาชนทั่วไป สามารถกู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยได้ไม่เกินรายละ 300,000 บาท ผ่อนชำระภายใน 3-5 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรกร้อยละ 2.50 ปีที่ 2 คิด MLR ลบ ร้อยละ 2.00 (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 6) ปีที่ 3 เป็นต้นไปคิด MLR ลบ ร้อยละ 1.00

3.3 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธอส. ได้จัดทำ “โครงการเงินกู้เพื่อลดภาระหนี้ ปลูกสร้าง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยแก่ผู้ประสบอุทกภัย ปี 2553” เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ อันจะเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้าธนาคารในการขอลดภาระหนี้ที่ผ่อนชำระ และประชาชนที่ต้องการไถ่ถอนจากสถาบันการเงินเดิมรวมทั้งการปลูกสร้างซ่อมแซมอาคารหรือที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ดังนี้ ปีที่ 1 เดือนที่ 1-4 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 เดือนที่ 5-12 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-2.00 = ร้อยละ 4.50 (ปัจจุบัน MRR ของธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 6.50) ปีที่ 2 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-2.00 = ร้อยละ 4.50 ปีที่ 3 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00 = ร้อยละ 5.50 ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญา รายย่อย MRR-0.50 = ร้อยละ 6 สวัสดิการ MRR-1.00

  • สำหรับลูกค้าธนาคารที่ขอลดภาระหนี้ที่ผ่อนชำระ จะได้รับการปลอดผ่อนชำระเงินงวด 4 เดือน
  • สำหรับประชาชนที่ไถ่ถอนปลูกสร้างซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ผ่อนชำระเงินงวดปกติ (เดือน 1-4 ไม่คิดดอกเบี้ย)

3.4 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

3.4.1 การพักชำระหนี้ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ และหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกค้าเดิม โดยดำเนินการพักชำระเงินต้นและหรือเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้กับลูกค้าทุกราย ตั้งแต่งวดครบกำหนดชำระในเดือนที่ประสบปัญหา เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน ทั้งนี้ให้พิจารณาระยะเวลาเป็นราย ๆ ตามความเหมาะสม

3.4.2 วงเงินฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ สำหรับลูกค้าเดิม และลูกค้าทั่วไป ได้กำหนดวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อเงินทุนในการปรับปรุง ฟื้นฟู และหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ

  • กู้สูงสุดรายละไม่เกิน 500,000 บาท
  • ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปี ระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 12 เดือน
  • อัตราดอกเบี้ย : ลูกค้าเดิมของธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ย เท่ากับ MLR ตลอดอายุสัญญา (ปัจจุบัน MLR ของธนาคารเท่ากับร้อยละ 7)

: ลูกค้า SMEs ทั่วไปที่ประสบภัยพิบัติคิดอัตราดอกเบี้ย MLR บวก ร้อยละ 0.5 ต่อปี

3.5 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)

3.5.1 ให้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการ เงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่ออเนกประสงค์

3.5.2 ไม่จำกัดวงเงิน โดยพิจารณาตามความเสียหายจริง

3.5.3 ผ่อนปรนเงินต้นและอัตรากำไรเป็นระยะเวลา 3 เดือน เดือนที่ 4 — 24 จะคิดอัตรากำไรต่ำกว่าสัญญาเดิมร้อยละ 1 หรือเลือกชำระหนี้เฉพาะส่วนอัตรากำไรเป็นระยะเวลา 12 เดือน ส่วนเดือนที่ 13 — 24 ชำระทั้งเงินต้นและกำไร โดยจะคิดอัตรากำไรต่ำกว่าสัญญาเดิมร้อยละ 1

3.6 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) จะพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขให้กับผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นราย ๆ ไป

3.7 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3.7.1 ผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ 3.7.2 ให้กู้เพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงกิจการ 3.7.3 สำหรับลูกค้าสินเชื่อบ้าน กู้ซ่อมแซม อนุมัติภายใน 3 วัน 3.7.4 ลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ธนาคารจะให้การสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกค้าเพื่อใช้ในการซ่อมแซมและปรับปรุงกิจการ รวมทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียน 3.7.5 ส่วนลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ธนาคารผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ โดยให้พักชำระเงินต้นนาน 6 เดือน หรือชำระดอกเบี้ยบางส่วน 3.7.6 ลูกค้า Home for Cash ให้อนุมัติสินเชื่อภายใน 3 วัน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย MLR — 1.75 เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นคิด MLR — 0.5 ต่อปี

3.8 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะประสานงานกับสถาบันการเงินทุกแห่งเพื่อผ่อนปรนค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้กับผู้ที่ใช้บริการ บสย. ค้ำประกันและได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

4. การจัดตั้งศูนย์บริการผู้ประสบภัยของกระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังมอบหมายให้กรมบัญชีกลาง โดยสำนักคลังจังหวัดจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนในจังหวัดที่เกิดอุทกภัย (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวข้างต้นเป็นการให้ความช่วยเหลือกับประชาชนทั่วไปและลูกค้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐซึ่งมีทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และรายย่อยทั่วไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ