การรับรองร่างปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 27, 2010 15:32 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การรับรองร่างปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน — สหประชาชาติ ครั้งที่ 3 ณ กรุงฮานอย

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะที่กำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management : ACDM) รายงานว่า

1. ในโอกาสที่จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 3 ณ กรุงฮานอย ในวันที่ 30 ตุลาคม 2553 จะมีการนำเสนอร่างปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ ให้ที่ประชุมดังกล่าวพิจารณาให้การรับรอง

2. ร่างปฏิญญาฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันเพื่อก่อตั้งกลไกสำหรับการจัดการภัยพิบัติ โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติระหว่างอาเซียนและ สหประชาชาติ ค.ศ. 2011 — 2015 (ASEAN-United Nations Strategic Plan of Cooperation on Disaster Management) ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะกำหนดแนวทางความร่วมมือ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

2.1 การเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถและการปฏิบัติการที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการภายใต้ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

2.2 การประเมินความเสี่ยงภัย การเตรียมความพร้อม การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า การเฝ้าระวังภัย การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน การบูรณะฟื้นฟู รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างใหม่และการพัฒนา

2.3 การกำหนดให้มีการนำบทเรียนและประสบการณ์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติในเหตุการณ์ภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กีสในสหภาพพม่า ความพยายามในอดีตและการดำเนินการร่วมกันในปัจจุบัน ตลอดจนการนำเอาปัจจัยที่ท้าทายต่างๆ ในปัจจุบันมาพิจารณาด้วย

3. ในส่วนของการติดตามประเมินผลนั้น ร่างปฏิญญาฯ ได้กำหนดให้คณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ACDM) โดยการช่วยเหลือและการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการอาเซียน United Nations Regional Coordinating Mechanism (UN-RCM) รวมทั้งองค์กรอื่น ๆ ของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ติดตามและประเมินผลการนำร่างปฏิญญาไปสู่การปฏิบัติ โดยให้รายงานผลการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ต่อที่ประชุมอาเซียน-สหประชาชาติในครั้งต่อไป

4. กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า สาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกัน เพื่อก่อตั้งกลไกสำหรับการจัดการภัยพิบัติ โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติ ประจำปี ค.ศ. 2011 — 2015 ซึ่งมิได้ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และใช้วิธีการรับรอง (Adopt) โดยไม่มีการลงนาม ดังนั้น ร่างปฏิญญาฯ จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 6-7/2551 เกี่ยวกับคำแถลงการณ์ร่วมของ ไทย — กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ