การดำเนินงานของประเทศไทยภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 27, 2010 15:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการดำเนินงานของประเทศไทยภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามมติผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

1.เห็นชอบกับกรอบการเจรจาของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 16 (COP16) และให้นำเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป

2. เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์สนับสนุน (Associations) ต่อ Copenhagen Accord ไปยังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้นำเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก่อนจัดส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์ดังกล่าว

3. เห็นชอบในองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 16 หน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหัวหน้าคณะ

4. เห็นชอบให้จัดตั้งสำนักงานเฉพาะกิจด้านการเจรจาภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 16 — 17 โดยมี นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา (Chief Negotiator) และมีผู้แทนจากหน่วยงานหลักร่วมปฏิบัติงานเต็มเวลาเพื่อจัดทำท่าทีการเจรจาของประเทศไทย ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโต และให้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ตามกรอบที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และตามเอกสารการเจรจาในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 16 และสมัยที่ 17 โดยมีสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงาน และขอให้สำนักงบประมาณพิจารณางบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานตามความเหมาะสม โดยให้สำนักงานเฉพาะกิจด้านการเจรจาฯ ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. การที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2537 และได้ดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ตลอดมาโดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานกลางของอนุสัญญาฯ ซึ่งในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 15 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ในระหว่างวันที่ 7 — 18 ธันวาคม 2552 ที่ผลการประชุมไม่บรรลุซึ่งข้อตกลงระยะยาวรวมถึงยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานตามพิธีสารโตเกียว แต่รัฐภาคีได้ร่วมกันรับทราบข้อตกลงโคเปนเฮเกน (Copenhagen Accord) ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานตามความสมัครใจโดยไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย ทั้งนี้ ประเทศไทยได้แสดงท่าทีในทางบวกต่อข้อตกลงโคเปนเฮเกน และแจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ แล้วเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2553 โดยให้เหตุว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาและรัฐสภาก่อนตามลำดับ

2. สำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำหนดจัดประชุมรัฐสภาคืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน — 10 ธันวาคม 2553 ณ เมืองแคนคูน สหรัฐเม็กซิโก โดยมีสาระของการเจรจาได้แก่ข้อตกลงความร่วมมือในระยะยาวและการปรับหรือ คงไว้ซึ่งพิธีสารเกียวโตในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่พัฒนาแล้วต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้ว ซึ่งประเทศไทยฐานะภาคีจักต้องเข้าประชุมและเจรจาด้วย

3. คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ประชุมพิจารณาเรื่องที่ต้องเตรียมการเข้าร่วมของประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553 ในเรื่องกรอบการเจรจา การสนับสนุนข้อตกลงโคเปนเฮเกน (Copenhagen Accord) องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 16 และข้อเสนอการจัดตั้งสำนักงานเฉพาะกิจเพื่อเตรียมการด้านเจรจาต่อเนื่องทั้งการประชุมในสมัยที่ 16 ถึง สมัยที่ 17

4. เนื่องจากการจัดทำกรอบเจรจาของประเทศไทยและเจตนารมณ์สนับสนุน ข้อตกลงโคเปนเฮเกน (Copenhagen Accord) ของประเทศไทย เปรียบเหมือนการข้อตกลงกับต่างประเทศถึงแม้จะไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย แต่ต้องมีการดำเนินการที่โปร่งใส จึงจำเป็นต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อไป ให้ทันต่อการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 16 ในระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน — 10 ธันวาคม 2553 ณ เมืองแคนคูน สหรัฐเม็กซิโก

5. สาระสำคัญ/ข้อเท็จจริงของเรื่อง

5.1 สาระของกรอบการเจรจาของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 16 (COP16) ที่คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ให้ความเห็นชอบได้ยกร่างขึ้นบนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงศักยภาพ (Common but differentiated responsibitities and Respective Capabilities) ความรับผิดชอบในอดีต (Historical Responsibility) การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficient Economy) การขจัดปัญหาความยากจน (Poverty Eradication) และหลักการสากลอื่นๆ ที่สอดคล้องกับพันธกรณีของสนธิสัญญาภายใต้กรอบองค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นภาคี

5.2 ข้อตกลงโคเปนเฮเกน (Copenhagen Accord) ที่เป็นผลจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 15 ไม่มีสถานะเป็นข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นการเปิดให้ภาคีแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุน (association) ต่อข้อตกลงดังกล่าว ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมายแต่อย่างใด ปัจจุบันมีรัฐภาคีที่แสดงเจตนารมณ์สนับสนุน (association) ต่อ Copenhagen Accord แล้ว จำนวน 139 ประเทศ (สถานะเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2553) โดยในจำนวนนี้ประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน กัมพูชา และเวียดนาม

5.3 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยให้สามารถเข้าร่วมเจรจาในการประชุมรัฐภาคีสัญญาฯ สมัยที่ 16 ได้ทุกเรื่อง ดังนั้นผู้แทนประเทศไทยสมควรประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคเอกชน และสื่อมวลชน

5.4 เพื่อเป็นการเตรียมท่าทีและการเจรจาของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 16 ที่เมืองแคนคูน สหรัฐเม็กซิโก ในปี 2553 และต่อเนื่องถึงการประชุมสมัยที่ 17 ณ นครโยฮันเนสเบอร์ก สหภาพอาฟริกาใต้ในปลาบดี 2554 ซึ่งมีความสำคัญและเข้มแข็งในการเจรจาอย่างยิ่งคณะกรรมการนโยบายเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแห่งชาติ จึงเห็นควรให้มีการแต่งตั้งสำนักงานเฉพาะกิจด้านการเจรจา โดยให้ผู้แทนจากกระทรวงที่มีส่วนร่วมในการเจรจาหลักมาปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวเต็มเวลาโดยมีนายอภิชัย ชวเจริญพันธ์เป็นหัวหน้าคณะเจรจา (Chief Negotiator)) และมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปัจจุบันจนสิ้นสุดการประชุม COP17 (เดือนธันวาคม 2554)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ