ร่างแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 27, 2010 15:45 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และฝีมือแรงงาน เพื่อการฟื้นฟูและความเจริญเติบโต

ทางเศรษฐกิจออย่างยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Statement on Human Resources and Skills Development

for Economic Recovery and Sustainable Growth)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และฝีมือแรงงาน เพื่อการฟื้นฟูและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจออย่างยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Statement on Human Resources and Skills Development for Economic Recovery and Sustainable Growth) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และหากจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างแถลงการณ์ดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการรับรองขอให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบอีก

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงแรงงาน (รง.) รายงานว่า

1.สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งเป็นประธานอาเซียนได้จัดทำร่างแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และฝีมือแรงงาน เพื่อการฟื้นฟูและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจออย่างยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Statement on Human Resources and Skills Development for Economic Recovery and Sustainable Growth) โดยร่างแถลงการณ์ดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 4 แล้ว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2553 ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมประชุมและฝ่ายเวียดนามมีกำหนดที่จะเสนอร่างแถลงการณ์ดังกล่าวต่อที่ประชุมสุดยอดผู้น้ำอาเซียนครั้งที่ 17 ในเดือนตุลาคม 2553 เพื่อให้การรับรอง

2. สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์เป็นวิสัยทัศน์ในการดำเนินการความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และฝีมือแรงงานในด้านต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการและการเสริมสร้างสมรรถนะในอาเซียน การส่งเสริมไตรภาคีและความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน การยกระดับคุณภาพและฝีมือแรงงานในประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมอบหมายให้รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่อาวุโสเฉพาะสาขา (ในส่วนของไทยคือ รง.) เป็นผู้ดำเนินการตามร่างแถลงการณ์ดังกล่าว โดยให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบและนโยบายของประเทศสมาชิก

3. กระทรวงแรงงานได้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหหมายต่อร่างแถลงการณ์ดังกล่าว ซึ่ง กต. (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) ได้มีหนังสือแจ้งข้อคิดเห็นสรุปได้ว่าไม่มีข้อขัดข้องในด้านสารัตถะต่อร่างแถลงการณ์และสาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ เป็นวิสัยทัศน์ในการดำเนินความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และฝีมือแรงงานของกลุ่มประเทศอาเซียน จึงเป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์และนโยบายทางการเมืองของกลุ่มประเทศอาเซียนที่มิได้ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

4. กระทรวงแรงงานมีความเห็นว่า ร่างแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์และนโยบายทางการเมืองของกลุ่มประเทศอาเซียนที่มิได้ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าว โดยดำเนินงานให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ และนโยบายของประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงแรงงาน โดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 6-7/2551 เกี่ยวกับคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ที่ระบุว่า “ปกติคำแถลงการณ์ที่ไม่ประสงค์จะให้มีผลทางกฎหมายนั้นไม่มีความจำเป็นต้องลงนาม” เนื่องจากร่างแถลงการณ์ดังกล่าวจะได้รับการรับรอง (adopt) โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียนโดยไม่มีการลงนาม จึงไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ