รายงานสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (วันที่ 19-25 ตุลาคม 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 27, 2010 16:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลรายงานสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (วันที่ 19-25 ตุลาคม 2553) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1. สถานการณ์น้ำในภาพรวม

  • สภาพภูมิอากาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนตกมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน
  • สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำเก็บกัก ประมาณร้อยละ 73 อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง

เขื่อนที่มีน้ำล้นอาคารระบายน้ำ มีจำนวน 13 แห่ง คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา เขื่อนหนองปลาไหล จ.ระยอง และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง

เขื่อนที่มีน้ำระหว่างร้อยละ 81 - 100 มีจำนวน 6 แห่ง คือ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก

เขื่อนที่มีน้ำระหว่างร้อยละ 50 - 80 มีจำนวน 12 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร เขื่อนมูลบน จ.นครราชสีมา เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา

เขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 มีจำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

  • สภาพน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แม่น้ำที่มีปริมาณน้ำล้นตลิ่ง คือ แม่น้ำปิง ที่ อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ แม่น้ำวัง ที่ อ.สามเงา จ.ตาก แม่น้ำยม ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี และที่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำป่าสัก ที่ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ แม่น้ำชี ที่ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ และที่บ้านโจด อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น แม่น้ำมูล ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ และที่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ลำปลายมาศ ที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ลำชี ที่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ห้วยทับทัน ที่ อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ห้วยสำราญ ที่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ห้วยขะยุง ที่ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ และแม่น้ำปราจีนบุรี ที่ อ.กบินทร์บุรี และที่ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี

แม่น้ำที่มีปริมาณน้ำมาก คือ แม่น้ำน่าน ที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ คลองโพธิ์ ที่ กิ่ง อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ แม่น้ำพอง ที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ลำตะเพิน ที่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี คลองพระปรง ที่ อ.เมือง จ.สระแก้ว แม่น้ำตะกั่วป่า ที่ อ.กะปง จ.พังงา

2. สถานการณ์อุทกภัยในรอบสัปดาห์ มีพื้นที่ที่เกิดเหตุน้ำท่วมใน 29 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิจิตร ชัยภูมิ มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี สุพรรณบุรี และสตูล

3. การให้ความช่วยเหลือ

3.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ได้เดินทางตรวจพื้นที่น้ำท่วมและมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วม

  • ในวันที่ 21 ต.ค. 2553 ตรวจพื้นที่น้ำท่วมที่บ้านปากกะพอก อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี และมอบถุงยังชีพและน้ำดื่ม จำนวน 200 ชุด
  • ในวันที่ 23 ต.ค. 2553 ตรวจพื้นที่น้ำท่วมที่ตำบลปากตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี และมอบถุงยังชีพจำนวน 400 ชุด และน้ำดื่ม จำนวน 5,000 ขวด พร้อมบินสำรวจสภาพพื้นที่น้ำท่วม บริเวณลุ่มน้ำป่าสักและเจ้าพระยาตอนล่าง
  • ในวันที่ 24 ต.ค. 2553 ได้ไปตรวจสภาพน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

3.2 กรมทรัพยากรน้ำ มอบน้ำดื่มเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา ปราจีนบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม น่าน พิษณุโลก จำนวนรวม 33,500 ขวด สนับสนุนระบบประปาเคลื่อนที่ 2 ระบบ รถยนต์รับส่งประชาชนที่ประสบภัย เครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง เครื่องยังชีพ 200 ชุด

3.3 ในรอบสัปดาห์นี้ สถานีเตือนภัยล่วงหน้าของกรมทรัพยากรน้ำมีการแจ้งเตือนภัย จำนวน 7 ครั้ง ครอบคลุม 10 หมู่บ้าน ใน 5 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย ชัยภูมิ และสุราษฎร์ธานี เป็นการเตือนในระดับอพยพ 2 ครั้ง 2 หมู่บ้าน ระดับเตรียมอพยพ 2 ครั้ง 4 หมู่บ้าน และระดับเฝ้าระวัง 3 ครั้ง 4 หมู่บ้าน

3.4 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการป้องกันน้ำท่วมบ่อบาดาลแบบถาวร 1,086 บ่อ เป่าล้างบ่อน้ำบาดาล 175 บ่อ ซ่อมเครื่องสูบน้ำ 140 เครื่อง ซ่อมแซมระบบประปา 35 ระบบ แจกน้ำดื่ม 73,490 ขวด และแจกน้ำจากระบบประปาเคลื่อนที่ 33,000 ลิตร

3.5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดส่งรถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน รถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร 3 คัน และรถแบ็กโฮ จำนวน 1 คัน เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

4. การเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2553

4.1 ให้แจ้งทุกหน่วยงานเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ในช่วงวันที่ 26 - 31 ต.ค. 2553 เนื่องจากว่า ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณตอนบน มีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง และทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนมากขึ้นและอาจจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่

4.2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์น้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักเต็มอ่าง โดยวันที่ 25 ต.ค. 2553 มีน้ำประมาณร้อยละ 112 แต่ ยังคงระบายน้ำในอัตราเดิม ประมาณวันละ 22 ล้าน ลบ.ม. ไม่ได้ระบายมากขึ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ โดยเฉพาะจุดบรรจบของแม่น้ำพองกับแม่น้ำชี อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ติดตามสภาพภูมิอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พบว่า พื้นที่ต้นน้ำมีปริมาณฝนลดลง ซึ่งคาดว่า จะสามารถควบคุมสถานการณ์น้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ได้

4.3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการเฝ้าระวังและเตรียมการรับสถานการณ์ รวมทั้งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ดังนี้

การดำเนินงานในระหว่างสถานการณ์น้ำท่วม ให้กรมทรัพยากรน้ำโดยศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ เป็นศูนย์ประสานงานของกระทรวงในส่วนกลาง ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกจังหวัดเป็นศูนย์ประสานงานในพื้นที่ รวมทั้งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง บูรณาการบุคลากรและครุภัณฑ์ในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง

การดำเนินงานภายหลังน้ำลด ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดำเนินการในด้านต่างๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาน้ำเสียและขยะในพื้นที่น้ำท่วม การซ่อมแซมบ่อน้ำบาดาล ระบบประปา แหล่งน้ำธรรมชาติ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบพื้นที่เกิดอุทกภัยและดินถล่ม การคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคต รวมทั้งการกำหนดมาตรป้องกันและแก้ไข

4.4 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สถานการณ์น้ำท่วมในลุ่มน้ำชี ปัจจุบัน ที่จังหวัดชัยภูมิระดับน้ำลดลงแล้ว คาดว่า จะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 2 - 5 วัน ซึ่งปริมาณน้ำหลากได้ไหลผ่านอ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น อ.แวงน้อย อ.แวงใหญ่ จ.มหาสารคาม และคาดว่า ปริมาณน้ำหลากสูงสุดจะไหลไปถึงขอนแก่นในวันที่ 27 ต.ค. 2553 มหาสารคามในวันที่ 30 ต.ค. 2553 กาฬสินธุ์ในวันที่ 2 พ.ย. 2553 ยโสธรในวันที่ 4 พ.ย. 2553 และจะถึงอุบลราชธานีในวันที่ 5 พ.ย. 2553

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในลุ่มน้ำมูล ระดับน้ำท่วมที่จังหวัดนครราชสีมาเริ่มลดลง คาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 7 — 10 วัน ซึ่งปริมาณน้ำหลากสูงสุดจะถึง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ในวันที่ 27 ต.ค. 2553 อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ในวันที่ 31 ต.ค. 2553 และจะถึงอุบลราชธานีในวันที่ 2 พ.ย. 2553

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 2553 เป็นต้นไป ระดับน้ำท่วมที่อุบลราชธานีจะสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 50 ซม. จนถึงวันที่ 5 พ.ย. 2553 หลังจากนั้น ระดับน้ำท่วมจะทรงตัวและจะค่อยๆลดลงจนกลับสู่สภาวะปกติภายในสิ้นเดือน พ.ย. 2553 ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ อ.วารินชำราบ ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ

4.5 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ต้นปี 1,444 มม. มากกว่าปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย 33 ปี ถึงร้อยละ 44 ลุ่มน้ำป่าสัก มีปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ต้นปี 1,567 มม. มากกว่าปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย 33 ปี ถึงร้อยละ 31 ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร(บางส่วน) และสมุทรปราการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ