เรื่อง ร่างกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนข้าราชการครู
และบุคลากรทางการศึกษาใน ก.ค.ศ. พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ก.ค.ศ. พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอว่า
1. เนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ได้กำหนดให้ยกเลิกความใน (5) ของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 โดยได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สอดคล้องกับการบริหารงานบุคคลในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ก.ค.ศ. พ.ศ. 2552 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันกำหนดผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สอดคล้องกับหลักการแห่งกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปจึงมีความจำเป็นต้องออกกฎ ก.ค.ศ.ใหม่
2. การดำเนินงานร่างกฎ ก.ค.ศ. ได้มีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความคิดเห็น โดยองค์คณะบุคคลที่พิจารณาทั้ง ก.ค.ศ.และ อ.ก.ค.ศ. วิสามัญจะมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งผู้แทนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามกฎ ก.ค.ศ.ฉบับนี้ ร่วมเป็นคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการในการพิจารณาด้วย อาทิเช่น ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนข้าราชการครู ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษา และผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่น
3. ในคราวประชุม ก.ค.ศ. วันที่ 23 กันยายน 2553 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ก.ค.ศ. พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ
สาระสำคัญของร่างกฎ ก.ค.ศ.
1. กำหนดนิยามคำว่า “เขตพื้นที่การศึกษา” และ “สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา” เพิ่มเติม (ร่างข้อ 2)
2. กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 7 (5) ต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และกำหนดกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งในแต่ละกลุ่ม (ร่างข้อ 5)
3. กำหนดให้ในกรณีที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งในแต่ละสังกัดมีจำนวนไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด ให้ผู้มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งผู้นั้นเป็นผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดนั้นโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง และกำหนดให้ในกรณีที่ไม่มีผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้ง หรือมีแต่ยังไม่ครบตามจำนวนหรือมีผู้สมัครแต่ไม่มีผู้มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งครบตามจำนวน ให้ส่วนราชการดำเนินการสรรหาตามที่เลขาธิการ ก.ค.ศ. กำหนด (ร่างข้อ 9)
4. กำหนดให้ประธานกรรมการประจำเขตเลือกตั้งรายงานผลการนับคะแนนหรือผลรวมคะแนนในเขตเลือกตั้งไปยังสำนักงาน ก.ค.ศ.ภายในสามวันนับแต่วันเลือกตั้ง (ร่างข้อ 11)
5. กำหนดให้เมื่อสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้รับรายงานผลการนับคะแนนหรือผลรวมคะแนนเลือกตั้งแล้วให้สำนักงาน ก.ค.ศ. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการรวมคะแนนเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ร่างข้อ 14)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553--จบ--