ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 11/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 11:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 11/2553 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ รศก. เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการ รศก. ครั้งที่ 11/2553

2. เห็นชอบหลักการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย และมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ตามมติคณะกรรมการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สืบเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 และวันที่ 26 ตุลาคม 2553 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีในวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2553 นั้น คณะกรรมการ รศก. ได้มีการประชุม ครั้งที่ 11/2553 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. มาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

1.1 การประเมินผลกระทบความเสียหายจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคม 2553 มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 65 จังหวัด โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบรวม 1,210,968 ครัวเรือน 3,774,789 ราย และบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายรวม 11,316 หลัง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นในภาคเกษตร พบว่า ภาคเกษตรกรรมมีมูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้นประมาณ 36,256 ล้านบาท และสำนักงานฯ ได้ประมาณผลกระทบเบื้องต้นจากความเสียหายด้านการเกษตรต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ณ ราคาประจำปี คาดว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโดยรวมจะลดลงประมาณร้อยละ 0.32

1.2 หลักการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ของประเทศได้สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัยมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และสอดคล้องกับสถานการณ์ จึงเห็นควรกำหนดหลักการสำคัญทั้งในด้านเป้าหมาย มาตรการดำเนินการ และเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

1.2.1 เป้าหมาย ครอบคลุม 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ประชาชนทั่วไป ผู้ด้อยโอกาส และช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 2) เกษตรกร 3) ผู้ประกอบการ และ 4) ระบบโครงสร้างพื้นฐาน

1.2.2 มาตรการดำเนินการ การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยจะดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย และสามารถฟื้นฟูให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด โดยมีมาตรการในการดำเนินการ ดังนี้

(1) มาตรการช่วยเหลือระยะเร่งด่วน ให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่ผู้ประสบอุทกภัยทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ในทันที เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงที่เกิดวิกฤต

(2) มาตรการฟื้นฟูเกษตรกรและประชาชนทั่วไปหลังภาวะน้ำลด ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัยให้สามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้ภายหลังจากเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านค่าชดเชยพืชผลเสียหายการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ และที่อยู่อาศัย ทั้งในส่วนของเกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป การป้องกันและรักษาโรคที่มาหลังน้ำลด และการฟื้นฟูด้านจิตใจให้แก่ ผู้ประสบภัย รวมทั้ง การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหาย เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ถนน ไฟฟ้า ประปา และสถานที่ราชการต่างๆ เป็นต้น

(3) มาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติในระยะยาว เร่งจัดทำระบบการเตือนภัยที่มีเอกภาพ ระบบป้องกันอุทกภัยและระบบบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งกำหนดแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่มีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างชัดเจนและเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้ทันต่อสถานการณ์ ตลอดจนเร่งพัฒนากลไกประกันความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติ

1.2.3 เกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ

(1) พื้นที่ให้ความช่วยเหลือ เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2553 ซึ่งจะต้องกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ อย่างเพียงพอและเป็นธรรม ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือ จะต้องสอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ทั้งในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาอุทกภัยรุนแรง และพื้นที่ที่ปัญหาอุทกภัยเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงภัยที่คาดว่าจะเกิดอุทกภัย ทั้งนี้ ยึดตามประกาศพื้นที่อุทกภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

(2) ผู้ประสบภัยและความเสียหาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือในแต่ละมาตรการที่ชัดเจนและดำเนินการสำรวจข้อมูล เพื่อจัดทำทะเบียนผู้ได้รับความเสียหายอย่างเป็นระบบ โดยข้อมูลต่างๆ ทั้งในด้านจำนวนผู้ประสบภัยที่จะได้รับความช่วยเหลือ การคำนวณมูลค่าความเสียหายและวงเงินที่จะให้ความช่วยเหลือต้องมีความถูกต้องตรงกัน และสามารถตรวจสอบได้

(3) งบประมาณ

1) กรณีการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนบรรเทาผลกระทบและความเสียหายฉับพลันให้ใช้จ่ายจากวงเงินทดรองราชการ และงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

2) กรณีการให้ความช่วยเหลือที่มีลักษณะเป็นงานปกติของส่วนราชการ ให้ส่วนราชการปรับแผนงบประมาณของหน่วยงานเป็นลำดับแรกก่อน รวมทั้งพิจารณาบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือด้วย

3) กรณีการให้ความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้แยกบันทึกบัญชีการดำเนินงานตามมาตรการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติ (Public Service Account — PSA) ให้ชัดเจน

2. ข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ดังนี้

2.1 มาตรการช่วยเหลือระยะเร่งด่วน

2.1.1 การช่วยเหลือค่าเสียหายด้านที่พักอาศัยและทรัพย์สินที่ประสบอุทกภัยของกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ได้แก่ กรณีบ้านเสียหายทั้งหลังชดเชยให้หลังละ 30,000 บาท กรณีบ้านเสียหายบางส่วนชดเชยหลังละไม่เกิน 20,000 บาท และกรณีเครื่องมือประกอบอาชีพเสียหายชดเชยให้ครอบครัวละไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากข้อเสนอเดิมที่เสนอคณะรัฐมนตรี

2.1.2 การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท ใน 29 จังหวัด ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท เฉพาะราษฎรผู้ประสบอุทกภัยจากกรณีเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้ไม่สามารถขนย้ายทรัพย์สินไปสู่ในที่ปลอดภัยหรือผู้ที่มีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านธนาคารออมสิน

2.1.3 การช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัยของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมอบเงินช่วยเหลือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 100 เขตๆ ละ 200,000 บาท เป็นเงิน 20 ล้านบาท จัดสุขาเคลื่อนที่ ให้บริการสถานศึกษาและชุมชนที่ประสบอุทกภัย 1,000 หลัง วงเงิน 10 ล้านบาท จัดหาเรือท้องแบน 1,000 ลำ วงเงิน 10 ล้านบาท และจ่ายเป็นค่าแบบเรียน อุปกรณ์การเรียน สำหรับนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่อุทกภัย วงเงิน 136 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้ง 176 ล้านบาท รวมทั้งการยกเว้นค่าหน่วยกิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา

2.2 มาตรการฟื้นฟูเกษตรกรและประชาชนทั่วไปหลังภาวะน้ำลด

2.2.1 การช่วยเหลือเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสนับสนุนเงินแก่ผู้ประสบภัยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 — สิ้นสุดฤดูฝนปี 2553 กรอบวงเงินรวม 14,883.407 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมกรอบวงเงินที่จะช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในระยะต่อไปจนสิ้นฤดูกาล

(1) ด้านพืช ช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิตรวม โดยช่วยเหลือตามพื้นที่เสียหายจริง ร้อยละ 100 แบ่งเป็น กรณีพืชเสียหาย ให้ช่วยเหลือข้าว อัตราไร่ละ 2,098 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 2,921 บาท และพืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 4,908 บาท และกรณีพืชสวนและไม้ยืนต้นที่ยังไม่ตายและฟื้นฟูได้ให้ช่วยเหลืออัตราไร่ละ 2,454 บาท

(2) ด้านประมงและปศุสัตว์ ช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2552 ส่วนที่เกินจากการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ฯ ให้ช่วยเหลือครึ่งหนึ่งของความเสียหายที่เกินจากเกณฑ์ปกติ

(3) ด้านประมง ปลา ให้ความช่วยเหลือไร่ละ 3,406 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ กุ้ง ปู และหอย ให้ความช่วยเหลือไร่ละ 9,098 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง/บ่อ ให้ความช่วยเหลือตารางเมตรละ 257 บาท รายละไม่เกิน 80 ตารางเมตร ทั้งนี้ ความช่วยเหลือต่างๆ หากคำนวณแล้วได้รับการช่วยเหลือต่ำกว่า 257 บาท ก็ให้ได้รับความช่วยเหลือในอัตรารายละ 257 บาท

(4) ด้านปศุสัตว์ กรณีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เสียหาย แบ่งเป็น แปลงหญ้าสาธารณะให้ความช่วยเหลือเป็นเมล็ดพืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กก. และหรือใช้หน่อพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กก. และ แปลงหญ้าส่วนตัวของเกษตรกร ให้รายละไม่เกิน 20 ไร่ และใช้เมล็ดพืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กก. และหรือใช้หน่อพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กก. และกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย มีเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือสัตว์ที่สำคัญ เช่น โคไม่เกิน 2 ตัว กระบือไม่เกิน 2 ตัว สุกร ไม่เกินรายละ 10 ตัว เป็ดพันธุ์ไข่และพันธุ์เนื้อ ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว ไก่พื้นเมือง ไม่เกินรายละ 300 ตัว ไก่ไข่ ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว

2.2.2 การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ไวแสงและทนน้ำท่วมของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยขอใช้งบประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ไวแสงที่ให้ผลผลิตสูงทนต่อสภาพน้ำท่วมฉับพลัน และอยู่ในน้ำได้นาน 2 สัปดาห์ จำนวน 2,000 ตัน ซึ่งเพาะปลูกได้ 160,000 ไร่

2.2.3 การเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดของกระทรวงพาณิชย์ โดยเสนอขอสนับสนุนงบประมาณจากงบกลาง รวมทั้งสิ้น 500 ล้านบาท สำหรับจัดงานมหกรรมธงฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค จัดทำอาหารปรุงสำเร็จแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม จัดงานมหกรรมสินค้า INDO-CHINA FAIR และจัดงานมหกรรมตลาดการค้าชายแดนใน 4 ภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมการจัดย่านการค้าในจังหวัดต่างๆ และจัดงานมหกรรมช่วยซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัยในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและภูมิภาคต่างๆ

2.2.4 การฟื้นฟูสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่สำคัญได้แก่ การบูรณะซ่อมแซมห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ห้องสมุดประชาชน และศูนย์การศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยตำบล และจัดโครงการ fix it center เพื่อออกหน่วยเคลื่อนที่ช่วยเหลือ ซ่อมแซมสถานศึกษาและบ้านเรือนประชาชน จัดสร้างสุขาลอยน้ำ และจัดสร้างบ้าน Knock Down ตัวอย่าง

2.3 มาตรการด้านการเงินและการคลัง

2.3.1 มาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

(1) การจำหน่ายหนี้สูญกรณีเกษตรกรเสียชีวิต โดยสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรจะจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ และให้รัฐบาลรับภาระหนี้แทน

(2) การขยายเวลาชำระหนี้และงดคิดดอกเบี้ย โดยสถาบันเกษตรกรจะขยายเวลาชำระหนี้และงดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 2553 — 2555 สำหรับลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัย โดยขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาล ทั้งนี้หากปรากฏว่าปี 2553 มีสมาชิกประสบอุทกภัยเพิ่มขึ้นทั้งในเขตพื้นที่เดิมและพื้นที่อื่นๆ กรมส่งเสริมสหกรณ์ขอถือใช้มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกตามมาตรการเดียวกัน

(3) การให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-3 ดอกเบี้ย MRR-2 ใน 3 เดือนแรกของปีแรก คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0 ปีที่ 4-5 คิดดอกเบี้ย MRR-1 และตั้งแต่ปีที่ 6 ขึ้นไป คิดดอกเบี้ย MRR ทั้งนี้ ได้ลดหย่อนหลักเกณฑ์การกู้เงินโดยใช้ที่ดินจำนอง หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นหลักประกันให้ลูกค้าได้ไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาประเมินที่ดิน หรือราคาประเมินที่ดินและราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างรวมกัน

(4) การให้สินเชื่อเพิ่มเติมและลดดอกเบี้ย โดยสถาบันเกษตรกร ให้สินเชื่อใหม่ไม่เกินรายละ 100,000 บาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้หากปรากฏว่าปี 2553 มีสมาชิกประสบอุทกภัยเพิ่มขึ้นทั้งในเขตพื้นที่เดิมและพื้นที่อื่นๆ กรมส่งเสริมสหกรณ์ขอถือใช้มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกตามมาตรการเดียวกัน

2.3.2 มาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป

(1) การขยายเวลาชำระหนี้สำหรับลูกหนี้เดิม โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พักการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 6 เดือน ถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553-30 กันยายน 2554 และร่วมมือกับสถาบันการเงินในการผ่อนปรนเรื่องการพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ และ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พักชำระหนี้ไม่เกิน 6 เดือน หรือขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 30 ปี

(2) การให้สินเชื่อและลดดอกเบี้ย โดย

1) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้เดิม แบ่งเป็น กรณีที่หลักประกันเสียหายและได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ ให้ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามประกาศธนาคารกรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ตลอดระยะเวลากู้ที่ เหลืออยู่ และ กรณีอาคารเสียหายทั้งหลังจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ภาระหนี้ตามยอดหนี้คงเหลือในส่วนของอาคารนอกจากนี้ ยังให้สินเชื่อใหม่ เพื่อปลูกสร้าง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้นกรณีรายย่อยคิดดอกเบี้ย MRR-0.5 ต่อปี และกรณีสวัสดิการ คิดดอกเบี้ย MRR-1 ต่อปี

2) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โครงการสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยปี 2553 วงเงิน 5,000 ล้านบาท สิ้นสุดวันรับคำขอกู้ 30 เมษายน 2554 เพื่อใช้ปรับปรุงซ่อมแซม ฟื้นฟูกิจการ และทุนหมุนเวียน โดยให้สินเชื่อไม่เกินรายละ 1,000,000 บาท ตามความจำเป็นของกิจการ คิดดอกเบี้ยอัตราคงที่ร้อยละ 3 ตลอดอายุสัญญาและเรียกเก็บดอกเบี้ยจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อัตราคงที่ร้อยละ 2 ต่อปีตลอดสัญญา

3) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สินเชื่อวงเงินเบิกถอนเงินสดและสินเชื่อวงเงินทุนระยะยาว แบ่งเป็น สินเชื่อเพื่อก่อสร้าง วงเงินลงทุนระยะยาว เงินทุนหมุนเวียน และวงเงินอเนกประสงค์

4) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สินเชื่อ 7 ประเภท ได้แก่ เงินกู้กรุงไทยสู้อุทกภัย วงเงินตามความเสียหายจริง เงินทุนหมุนเวียนกรุงไทยสู้อุทกภัย สำหรับเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้า โครงการกรุงไทยสู้อุทกภัย สำหรับลูกค้าที่ต้องการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยกรุงไทยสู้อุทกภัย สำหรับลูกค้าที่ผ่อนชำระสินเชื่อกับธนาคารและได้รับความเสียหายจากอุทกภัย การยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรุงไทยจับคู่ธุรกิจสู้อุทกภัย โดยจัด Business Matching ระหว่างผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย และสินเชื่อเพื่อพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อฟื้นฟูหลังอุทกภัย

5) การช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจเฟรนไชน์และธุรกิจขายตรงของกระทรวงพาณิชย์ ใช้สินเชื่อคงเหลือ 1,655 ล้านบาท จากวงเงินสินเชื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 ธันวาคม 2552 มาให้ความช่วยเหลือในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ และขยายการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจเฟรนไชน์และธุรกิจขายตรง เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี และปลอดชำระเงินต้น 1 ปี รวมทั้ง ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการจาก 30 ธันวาคม 2553 เป็นสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2554

6) การช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูจากปัญหาอุทกภัยของกระทรวงการคลัง โดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะผ่อนผันเงื่อนไขการให้สินเชื่อเป็นกรณีพิเศษ

2.3.3 มาตรการด้านภาษีของกระทรวงการคลัง โดยนำเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ระหว่างเดือนกันยายน — ธันวาคม 2553 มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/นิติบุคคลได้ ขณะที่ผู้ประสบภัยหรือนิติบุคคลที่ได้รับบริจาคได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค ช่วยเหลือหรือชดเชย รวมทั้งขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ที่ต้องยื่นแบบในเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม ภายใน 30 ธันวาคม 2553

2.4 มาตรการฟื้นฟูและบูรณะโครงสร้างพื้นฐาน

2.4.1 การฟื้นฟูระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ ระบบคมนาคมขนส่ง (ถนนและรถไฟ) ระบบประปา ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสารโทรคมนาคม หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องเร่งดำเนินการซ่อมแซมให้กลับสู่สภาพปกติ โดยกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เร่งสำรวจความเสียหายและจัดทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้ ในกรณีการซ่อมแซมที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณของรัฐวิสาหกิจนั้น นอกจากนั้น เห็นควรให้ส่วนราชการพิจารณาให้การผ่อนผันแก่ผู้ประกอบการก่อสร้างที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยตามความเหมาะสม โดยให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

2.4.2 การช่วยเหลือและฟื้นฟูสาธารณูปโภคด้านแหล่งน้ำบาดาลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดทำแผนการช่วยเหลือและฟื้นฟูสาธารณูปโภคด้านแหล่งน้ำบาดาลที่ได้รับความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำอุปโภคบริโภค โดยพัฒนาเป่าล้างฟื้นฟูบ่อน้ำบาดาล ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้และระบบประปาหมู่บ้าน อุดกลบบ่อน้ำบาดาลและปิดปากบ่อน้ำบาดาลอย่างถาวร เจาะบ่อน้ำบาดาล และจัดหาบรรจุภัณฑ์บรรจุน้ำสะอาดเพื่อทดแทนที่ได้ดำเนินการไปแล้วและสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินที่เกิดเหตุภัยธรรมชาติ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน รวมเงินทั้งสิ้น 440.993 ล้านบาท โดยขอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

2.5 มาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติในระยะยาว

2.5.1 การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการและเตือนภัยพิบัติ ให้ครอบคลุมทั้งระบบฐานข้อมูลเพื่อการเตือนภัย การเตรียมการและป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้น การแจ้งเตือนภัย รวมทั้งมาตรการ และวิธีการในการช่วยเหลือในกรณีที่เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ ทั้งกรณี อุทกภัย ภัยแล้ง ดินถล่ม วาตภัย และแผ่นดินไหว โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้มีเอกภาพ ปรับปรุงกลไกการดำเนินงานที่มีอยู่ให้เข้มแข็ง สามารถจัดการกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการบรรเทาสาธารณภัย การจัดทำแผน และมาตรการรองรับผลกระทบ

2.5.2 การเร่งรัดระบบประกันภัยพืชผลการเกษตรจากภัยธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นระบบ และกลไกถาวรให้กับรัฐบาลและเกษตรกรในการวางแผนรับมือกับผลกระทบจากความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติทั้งจากน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือโรคแมลงระบาดได้ชัดเจนเนื่องจากมีหลักประกันที่ชัดเจนว่าหากเกิดความเสียหายจะได้รับการชดเชยในจำนวนชัดเจน

2.5.3 การจัดทำแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยศึกษาความเหมาะสมและจัดทำแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน รวมทั้ง รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรน้ำเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

3. มติคณะกรรมการ รศก.

3.1 รับทราบผลการประเมินความเสียหายจากอุทกภัยตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม — สิ้นเดือนตุลาคม 2553

3.2 เห็นชอบหลักการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยตามข้อ 1.2

3.3 เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของส่วนราชการต่างๆ ดังนี้

3.3.1 มาตรการช่วยเหลือระยะเร่งด่วน

(1) การช่วยเหลือค่าเสียหายด้านที่พักอาศัยและทรัพย์สินที่ประสบอุทกภัยในระยะแรก ให้ชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ได้แก่ กรณีบ้านเสียหายทั้งหลังชดเชยให้หลังละ 30,000 บาท กรณีบ้านเสียหายบางส่วนชดเชยหลังละไม่เกิน 20,000 บาท และกรณีเครื่องมือประกอบอาชีพเสียหายชดเชยให้ครอบครัวละไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายที่ชัดเจนและอาจพิจารณา แนวทางการช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป

(2) การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท เพื่อช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบอุทกภัยจากกรณีเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ขนย้ายทรัพย์สินไม่ทัน หรือพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเร่งสำรวจจำนวนครัวเรือนที่เสียหายซึ่งรวมถึงผู้เช่าที่พักอาศัยที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้ชัดเจน และประสานคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ในการกำหนดแนวปฏิบัติในการจ่ายเงินในรายละเอียดต่อไป และให้กระทรวงมหาดไทย เร่งจัดทำแผนการจ่ายเงินในแต่ละพื้นที่โดยเริ่มจากพื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว พร้อมทั้งให้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงการคลังและธนาคารออมสิน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการรับรองเอกสารของผู้ประสบอุทกภัยในทุกจุดจ่ายเงินที่กำหนดไว้ตามแผน ทั้งนี้ ให้เริ่มดำเนินการทยอยจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านธนาคารออมสินภายใน 1 สัปดาห์

(3) เห็นชอบในหลักการให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัยของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย การช่วยเหลือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา การจัดสุขาเคลื่อนที่ให้บริการสถานศึกษาและชุมชนที่ประสบอุทกภัย จัดหาเรือท้องแบน และการให้ความช่วยเหลือค่าแบบเรียน อุปกรณ์การเรียนสำหรับนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่อุทกภัย วงเงินรวมทั้งสิ้น 176 ล้านบาท โดยให้ประสานรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป รวมทั้งเห็นชอบให้ยกเว้นค่าหน่วยกิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย

3.3.2 มาตรการฟื้นฟูเกษตรกรและประชาชนทั่วไปหลังภาวะน้ำลด

(1) เห็นชอบหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามที่กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์เสนอ โดยให้รวมถึงเกษตรกรที่เช่าที่ทำกินและได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ เร่งสำรวจพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความเสียหายจากอุทกภัยให้ชัดเจน และประสานกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

(2) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับข้อเสนอการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ไวแสงและทนน้ำท่วมของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปพิจารณาความเหมาะสมในการบูรณาการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีพันธุ์ข้าวดังกล่าวต่อไป

(3) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแนวทางการดูแลราคาสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและการก่อสร้าง เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น และนำเสนอคณะกรรมการ รศก. พิจารณาต่อไป

(4) มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำรายละเอียดการฟื้นฟูสถานศึกษาเช่น การบูรณะซ่อมแซมห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ห้องสมุดประชาชน และศูนย์การศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยตำบล และจัดโครงการ fix it center เป็นต้น โดยประสานกับสำนักงบประมาณในการปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2554 มาดำเนินการเป็นลำดับแรก

3.3.3 เห็นชอบมาตรการด้านการเงินและการคลัง ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่อ มาตรการมาตรการด้านภาษี และมาตรการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสบอุทกภัย และการเบิกจ่ายเงินทดรองราชการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์เสนอ สำหรับข้อเสนอที่ให้รัฐบาลรับภาระหนี้และชดเชยดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ สถาบันเกษตรกร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรตามที่เสนอนั้น ให้หารือในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมต่อไป

3.3.4 มาตรการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน

(1) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เร่งสำรวจความเสียหายและดำเนินการซ่อมแซมระบบโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว โดยให้ประสานกับสำนักงบประมาณในการปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2554 มาดำเนินการเป็นลำดับแรก นอกจากนี้ ให้ส่วนราชการพิจารณาให้การผ่อนผันแก่ผู้ประกอบการก่อสร้างที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยตามความเหมาะสมโดยให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

(2) มอบหมายให้สำนักงบประมาณ รับไปพิจารณารายละเอียดของแผนการช่วยเหลือและฟื้นฟูสาธารณูปโภคด้านแหล่งน้ำบาดาลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และนำเสนอคณะกรรมการ รศก. พิจารณาต่อไป

3.3.5 มาตรการป้องกันปัญหาภัยพิบัติในระยะยาว

(1) มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติ และกลไกการดำเนินงานให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีเอกภาพ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ต่อไป

(2) มอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณากรอบแนวทางประกันภัยพืชผลอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ เร่งรัดระบบประกันภัยพืชผลการเกษตรจากภัยธรรมชาติ โดยพิจารณาแนวทางการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบดังกล่าวด้วย และนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป

(3) มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำในภาพรวม ทั้งในด้านการจัดการข้อมูลและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และพิจารณาแนวทางการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติในชุมชน รวมทั้งการจัดการด้านผังเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยในระยะยาว

3.4 ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบดำเนินการภายใต้มาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประสานกับสำนักงบประมาณ เพื่อปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2554 สำหรับดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวเป็นลำดับแรกก่อน

3.5 เห็นควรกำหนดกลไกการพิจารณามาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยให้คณะกรรมการ คชอ. พิจารณาให้ความช่วยเหลือในกรณีที่จำเป็นต้องมีการบริหารสถานการณ์เฉพาะหน้า เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัยเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติและแผนการให้ความช่วยเหลือในรายละเอียด ตลอดจนตรวจสอบข้อมูลความเสียหายของพื้นที่และจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบ สำหรับการพิจารณามาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูภายหลังภาวะน้ำลด ให้ส่วนราชการเสนอคณะกรรมการ รศก. พิจารณาในภาพรวมต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ