การรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 11:16 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่องโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ

จากการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่องโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รายงานว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (15 ธันวาคม 2552, 2 กุมภาพันธ์ 2553, 9 กุมภาพันธ์ 2553, 16 กุมภาพันธ์ 2553, 23 มีนาคม 2553, 25 พฤษภาคม 2553, 20 กรกฎาคม 2553, และ 5 ตุลาคม 2553) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยมีผลการดำเนินงาน การดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาด ปัญหาและอุปสรรค และแนวทางแก้ไข ดังนี้

1. งบประมาณที่ได้รับ

คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จำนวน 1,240 ล้านบาท แยกเป็นงบกลาง 501 ล้านบาท งบกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 739 ล้านบาท แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินงาน จำนวน 666.663 ล้านบาท แยกตามแหล่งงบประมาณ ดังนี้ 1.1 งบกลาง ได้รับการจัดสรร 150.241 ล้านบาท 1.2 งบกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ได้รับการจัดสรร 516.422 ล้านบาท

2. ผลการเบิกจ่ายงบประมาณ

กษ.ได้เบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรข้างต้น รวม 650.641 ล้านบาท ดังนี้

2.1 งบกลาง เบิกจ่าย 135.313 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90.06 ของงบกลางที่ได้รับการจัดสรร

2.2 งบกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เบิกจ่าย 515.328 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.79 ของงบกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรร

3. การดำเนินงานตามแนวทางเร่งด่วนเพื่อยุติการระบาด

3.1 การให้ความช่วยเหลือเป็นเงินสด โดยดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นเงินสดในอัตราไร่ละ 2,280 บาท มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 9,368 ราย คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 360.686 ล้านบาท

3.2 การไถกลบต้นข้าว โดยดำเนินการไถกลบต้นข้าวในอัตราไร่ละ 350 บาท มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 9,477 ราย พื้นที่ 159,640 ไร่ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 55.787 ล้านบาท

3.3 การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ได้ดำเนินการ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรในพื้นที่ที่มีการระบาดในอัตราไร่ละ 15 กิโลกรัม จำนวน 99,153 ราย โดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 8,903.61 ตัน คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 160.265 ล้านบาท

4. การดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาด

4.1 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ดำเนินการประชุมชี้แจงและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ที่มีการระบาด รวมทั้งจัดทำแปลงสาธิตแปลงพยากรณ์การจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน การจัดงานรณรงค์และประชาสัมพันธ์ตลอดจนการจัดบริการถ่ายทอดความรู้โดยหน่วยเคลื่อนที่เร็ว โดยใช้งบกลางทั้งสิ้น 20.129 ล้านบาท

จากผลการดำเนินงานพบว่าเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตามคำแนะนำของทางราชการเพิ่มขึ้น รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนได้ ช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งความรู้และการบริการด้านการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดน้ำตาล ในแต่ละชุมชนในพื้นที่ 14 จังหวัด

4.2 โครงการป้องกันการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างยั่งยืนได้ดำเนินการ ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยได้ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ต้านทานเพลี้ย กระโดดสีน้ำตาลชั้นพันธุ์คัดพันธุ์หลัก จำนวน 8 พันธุ์ รวมทั้งชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่าย ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ข้าวชุมชน จำนวน 400 ศูนย์คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 14,000 ตัน โดยใช้งบกลางในการดำเนินการทั้งสิ้น 53.774 ล้านบาท

จากผลการดำเนินงานพบว่าจะได้เมล็ดพันธ์ที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ชั้น พันธุ์คัด 20 ตัน ชั้นพันธุ์หลัก 200 ตัน ส่วนเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายและพันธุ์จำหน่ายคาดว่าจะได้เมล็ดพันธุ์ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัย นอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรมีความรู้ เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการระบบนิเวศใน นาข้าว และจากการประเมินพบว่าการจัดระบบนิเวศในนาข้าวช่วยทำให้ศัตรูธรรมชาติมีปริมาณเพิ่มขึ้น

5. ปัญหาและอุปสรรค

5.1 เกษตรกรบางส่วนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ เช่น การใช้สารเคมีไม่ถูกต้องตามคำแนะนำ แต่เชื่อถือคำแนะนำของร้านค้าสารเคมีมากกว่าทางราชการ

5.2 เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าวต่อเนื่องโดยไม่มีการพักดิน เพื่อตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เนื่องจากข้าวมีราคาดี

5.3 เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์เดียวกันเป็นผืนใหญ่ เช่น พันธุ์ปทุมธานี1 ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีการปรับตัวเข้าทำลายในพันธุ์ข้าวดังกล่าว

5.4 เกษตรกรที่รับพันธุ์ข้าวจากโครงการแต่ไม่นำไปปลูก เนื่องจากราคาต่ำกว่าพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1

5.5 เกษตรกรบางส่วนไม่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ข้าวได้ แม้จะมีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

5.6 ลมมรสุมและสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการระบาดทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของตัวเต็มวัยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จึงทำให้การควบคุมกำจัดไม่ประสบความสำเร็จ

6. แนวทางแก้ไข

6.1 ฝึกอบรมเกษตรกรและร้านค้าสารเคมีให้ตระหนักถึงการใช้สารเคมีที่ถูกต้องและปลอดภัย และการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี

6.2 ดำเนินการจัดระบบการปลูกข้าวเพื่อควบคุมการระบาดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างยั่งยืนซึ่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการโครงการในปีงบประมาณ 2554-2556

6.3 ดำเนินการพัฒนาระบบเตือนภัยศัตรูข้าว เพื่อช่วยให้เกษตรกรทราบข้อมูลการระบาดล่วงหน้า และสามารถเตรียมการที่จะป้องกันกำจัดได้ทันต่อสถานการณ์

6.4 สนับสนุนให้มีการประกันภัยพืชผลการเกษตร เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างเหมาะสม และรวดเร็ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ