ผลการดำเนินการของคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 11:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการของคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย ตามที่คณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) เสนอ

เรื่องเดิม

นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 280/2553 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2553 แต่งตั้ง โดยมี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย)เป็นประธานกรรมการ รวมทั้ง จัดตั้งศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยขึ้น ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยให้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2553 และได้นำสรุปผลการประชุมคณะกรรมการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีทราบในคราวประชุมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2553

ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ

ในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ที่ประชุมได้มีการปรึกษาหารือในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ในกรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2553 ได้พิจารณาอนุมัติในหลักการแล้ว โดยข้อมูลครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยที่ได้รับความเสียหายที่สำรวจได้ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 มีดังนี้

กรณีที่ 1 ประสบอุทกภัยกรณีเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้ไม่สามารถขนย้ายทรัพย์สินได้ทัน รวมจำนวน 89,309 ครัวเรือน

กรณีที่ 2 ผู้ที่มีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน รวมจำนวน 542,979 ครัวเรือน

สรุปรวมทั้ง 2 กรณี รวมจำนวน 632,288 ครัวเรือน ซึ่งจะได้มีการกำหนดวิธีการจ่ายเงินเพื่อให้ถึงมือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด และให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไปด้วย

ทั้งนี้ คชอ. ได้ประสานผู้ที่เกี่ยวข้องและกำหนดให้มีการจ่ายเงินให้กับประชาชนในจังหวัดที่มีความพร้อมด้านข้อมูลผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งแรกในวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน 2553 ณ จังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งขอให้จังหวัดมีแผนการจ่ายเงิน ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประสบภัยได้ทราบด้วย

2. รายงานสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัย

2.1 หน่วยงานต่างๆ ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบอุทกภัยให้คณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทราบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 สรุปได้ว่า ขณะนี้จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น 22 จังหวัด 126 อำเภอ 955 ตำบล 7,475 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 4,128, 373 ไร่ ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุบลราชธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และจังหวัดฉะเชิงเทรา

สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ ระยอง จันทบรี ตราด ตาก ชลบุรี ลำพูน เชียงใหม่ สระแก้ว นครนายก กำแพงเพชร พิษณุโลก หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ

2.2 สถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 พายุดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มีศูนย์กลางห่างประมาณ 350 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดสงขลา มีความเร็วสูงสุดประมาณ 50 กม./ชม. กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่างในช่วงวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2553 ลักษณะเช่นนี้ ทำให้บริเวณภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และ สตูล ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้

ในกรณีนี้ ประธานฯ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนทุกระยะ โดยส่งข่าวการแจ้งเตือนให้กรมประชาสัมพันธ์ และ อ.ส.ม.ท. ช่วยกระจายข่าวให้ประชาชนได้รับทราบ และขอให้ทุกหน่วยงานโดยเฉพาะหน่วยทหาร เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้โดย

2.3 แผนฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย

แม้สถานการณ์น้ำในจังหวัดต่างๆ 16 จังหวัด จะคลี่คลายแล้ว แต่รัฐบาลยังมีภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการต่อไป ได้แก่ การฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นกับราษฎรในพื้นที่ ในการนี้ เพื่อให้การฟื้นฟูความ เสียหายในพื้นที่ที่สถานการณ์น้ำคลี่คลายแล้วดังกล่าว เป็นไปอย่างทั่วถึง รวดเร็ว และตรงกับความต้องการของประชาชน ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เตรียมการจัดทำแผนการฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

2.3.1 การสูบน้ำออกจากแหล่งที่มีน้ำท่วมขัง

2.3.2 การทำความสะอาดบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย สิ่งสาธารณูปโภค เช่น ถนน ทางเดินเท้า กำแพง ท่อระบายน้ำ สะพาน ฯลฯ โดยการจัดหารถยนต์บรรทุกน้ำฉีดล้างทำความสะอาด ระดมเครื่องมือ กำลังพล เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ

2.3.3 ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและอาคารประกอบอื่นๆ เช่น ยุ้งข้าว คอกสัตว์ โรงเรือน ฯลฯ

2.3.4 สร้างบ้าน กรณีบ้านเรือนพังเสียหายทั้งหลัง

2.3.5 ซ่อมแซมฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ ให้กลับสู่ภาวะปกติ เช่น ถนน สะพาน ไฟฟ้า ประปา บ่อน้ำตื้น บ่อบาดาล โทรศัพท์ โรงเรียน วัด โบสถ์ มัสยิด ฯลฯ

2.3.6 ก่อสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ที่เสียหายโดยสิ้นเชิงจากอุทกภัย

2.3.7 การฟื้นฟูสภาพที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ และมีสภาพแวดล้อมที่ดี ป้องกันโรคระบาดแพร่กระจาย

2.3.8 การบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ รักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วย ฯลฯ

2.3.9 รวมพลังเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยให้มีจิตใจเข้มแข็ง รวมกลุ่มฟื้นฟูที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อม อาชีพ และการดำรงชีวิตหลังน้ำลด ให้กลับสู่สภาพปกติหรือดีขึ้นกว่าเดิม

2.3.10 สำรวจความเสียหายด้านต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ

  • ที่อยู่อาศัย อาคารบ้านเรือน อาคารประกอบอื่นๆ และทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์
  • สิ่งสาธารณูปโภคทุกประเภท (โรงเรียน ศาสนสถาน วัดโบสถ์ มัสยิด ฯลฯ)
  • เครื่องมือประกอบอาชีพ
  • พื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ด้านพืช (ข้าว พืชไร่ พืชสวนและอื่นๆ) ประมง ปศุสัตว์ และอื่นๆ

2.3.11 การเสนอของบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือ

2.3.12 การจัดหาอาชีพ การขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ งดคิดดอกเบี้ย การให้กู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ

ทั้งนี้ ในกิจกรรมดังกล่าว ได้กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบ แหล่งงบประมาณที่จะต้องใช้รวมทั้งกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของแต่ละกิจกรรมไว้ด้วย

ในเรื่องนี้ ประธานฯ ได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่โดยเร็ว เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าจะต้องดำเนินกิจกรรมใดบ้างในการให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วและตรงตามความต้องการของประชาชน และนำมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 5/2553 ในวันพุธที่ 3 พฤศจิกายน 2553 สำหรับกิจกรรมการทำความสะอาดบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย และสิ่งสาธารณูปโภค ได้กำหนดเริ่มดำเนินกิจกรรมครั้งแรกในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 ณ จังหวัดนครราชสีมา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ