ขอความเห็นชอบในหลักการร่างปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เรื่อง การอนุรักษ์เสือโคร่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 11:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการของร่างปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เรื่อง การอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งรัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียได้ร้องขอให้ผู้นำประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง 13 ประเทศ ลงนามร่วมกัน

2. ให้นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นผู้ลงนามในปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถร่วมลงนามได้ เห็นควรให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพิจารณามอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ลงนามแทน

ทั้งนี้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า

1. สืบเนื่องจากการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1 ในเดือนมกราคม 2553 ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งที่ประชุมมีมติเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานก่อนการประชุม Tiger Summit ในระดับผู้นำประเทศ ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ในเดือนพฤศจิกายน 2553 โดยกำหนดให้มีการประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดเสือโลก (Pre-Tiger Summit Partner Dialogue Meeting) ที่เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2553 เพื่อให้ผู้แทนของประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง 13 ประเทศ ซึ่งเป็นผู้บริหารและเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูง ร่วมจัดทำร่างปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เรื่อง การอนุรักษ์เสือโคร่งและเตรียมแผนงานและกำหนดการสำหรับการประชุม Tiger Summit โดย ทส.ได้ส่งผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระดับรองอธิบดี (นายนิพนธ์ โชติบาล) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน พร้อมด้วยรองอธิบดี กรมป่าไม้ (นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ) รองหัวหน้าคณะพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

2. การประชุมเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดเสือโลกที่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นการประชุมในระดับอธิบดีหรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์เสือโคร่ง ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงจากประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง 13 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย เนปาล ภูฏาน พม่า จีน ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และบังคลาเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากองค์กรเอกชนรวมทั้งสิ้น 200 คน ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาถึงรูปแบบโครงสร้างของการประชุม Tiger Summit ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่สหพันธรัฐรัสเซีย และร่วมจัดทำร่างปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เรื่อง การอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 ดำเนินการจัดทำร่างปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เรื่อง การอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยผู้แทนจากประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง 13 ประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1.1 ความมุ่งมั่นในการเพิ่มประชากรของเสือโคร่งเป็น 2 เท่าภายในปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ.2022)

2.1.2 จัดการและคุ้มครองถิ่นอาศัยของเสือโคร่งเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องถิ่นอาศัยหลักของเสือโคร่งจากการพัฒนาสิ่งก่อสร้างเพื่อเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงเชื่อมโยงความต่อเนื่องของถิ่นอาศัยเสือโคร่ง โดยการจัดทำแนวเชื่อมต่อเพื่อให้การพัฒนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหมาะสมกับเสือโคร่งและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

2.1.3 ร่วมมือกันเพื่อกำจัดการลักลอบล่า ลักลอบนำเข้า/ส่งออก และการค้าเสือโคร่งชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎหมายระดับชาติ หน่วยงาน และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อต้านอาชญากรรมที่เกิดกับเสือโคร่ง รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้มีความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี เช่น ASEAN-WEN, SAWEN และข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐรัสเซียเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง

2.1.4 การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อลดผลกระทบต่อเสือโคร่งรวมทั้งประชากรเหยื่อและถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง และลดผลกระทบระหว่างคนกับเสือโคร่งโดยเสริมสร้างทางเลือกในการดำรงชีพอย่างยั่งยืน

2.1.5 เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการถิ่นอาศัยของเสือโคร่งโดยใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยและมีมาตรฐาน มีการติดตามประเมินประชากรเสือโคร่งและเหยื่อและถิ่นอาศัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของสถาบันทางด้านวิทยาศาสตร์และประเมินการฝึกอบรมและสร้างเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในทุกระดับชั้น

2.1.6 ตรวจสอบและจัดสรรแหล่งทุนใหม่จาก REDD plus (Reducing Emissions from Deforestration and Forest Degradation in Developing Countries) ค่าชดเชยทางนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ภาคเอกชน ผู้ให้ทุน และความร่วมมือกับองค์กรเอกชนอื่น ๆ

2.1.7 เรียกร้องให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก (WB), Global Environment Facility (GEF), Asian Development Bank (ADB) แหล่งทุนอื่น ๆ และมูลนิธิ สำนักเลขาธิการ CTTES องค์กรเอกชน และแนวร่วมด้านการอนุรักษ์อื่น ๆ เป็นต้น จัดหา สนับสนุนเงินและความช่วยเหลือทางวิชาการในการอนุรักษ์เสือโคร่ง

2.1.8 จัดตั้ง Multi-donor trust fund ขึ้นเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์เสือโคร่ง

2.1.9 เรียกร้องให้สถาบันการเงินและหน่วยงานร่วมรวมทั้ง GTI ช่วยเหลือในการจัดทำระบบในการประสานงานและการติดตามการใช้ Multi-donor trust fund ที่จัดหาไว้เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง และการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในโลก (Global Tiger Recovery Program)

2.1.10 เห็นชอบให้มีการประชุมของผู้บริหารระดับสูงอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามความก้าวหน้าของแผนปฏิบัติการแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง (NTRPs) และแผนปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของโลก (GTRP) เพื่อให้แน่ใจว่าภาคการเมืองในระดับสูงยังคงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง

2.1.11 หาโอกาสที่จะนำประเด็นในเรื่องการอนุรักษ์เสือโคร่งสอดแทรกเข้าไปในการประชุมภาคีระหว่างประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการประชุมอื่น ๆ ในเวทีนานาชาติที่เกี่ยวข้อง

2.1.12 ร่วมรณรงค์การอนุรักษ์เสือโคร่งโดยการเฉลิมฉลองวันอนุรักษ์เสือโลก (Global Tiger Day) ในวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี

นอกจากนี้ที่ประชุมยังขอให้ผู้แทนจากประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่งทั้ง 13 ประเทศ นำร่างปฏิญญานี้เสนอขอความเห็นชอบจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ และขอให้แต่ละประเทศแก้ไขร่างปฏิญญานี้และ แจ้งให้สหพันธรัฐรัสเซียทราบก่อนปลายเดือนสิงหาคม 2553

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ