ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 13:45 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA)

ขอให้รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดฝึกอบรมและการประชุม

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในฐานะผู้ประสานงานแห่งชาติระหว่างประเทศไทยกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตอบรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและฝึกอบรม โดยเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นผู้ลงนามในหนังสือแจ้งตอบรับการเป็นเจ้าภาพ ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ทั้งนี้ ให้ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงบประมาณ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) รายงานว่า

1. วท.โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้รับการทาบทามจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศให้พิจารณาเป็นเจ้าภาพการจัดฝึกอบรมและการประชุม ดังนี้

1.1 การฝึกอบรมส่วนภูมิภาค Regional Training Course on Safety Case for Predisposal Management and Centralized Storage of Radioactive Waste ระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2553 ณ กรุงเทพมหานคร

1.2 การประชุมส่วนภูมิภาค Regional Meeting to Create a Network of Medical Professionals on Radiation Protection of Children ระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2553 ณ กรุงเทพมหานคร

2. การฝึกอบรมส่วนภูมิภาค (ในข้อ 1.1) เป็นหลักสูตรความปลอดภัยก่อนการกำจัดและการจัดเก็บกากกัมมันตรังสีไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

2.1 จุดประสงค์ของหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อเตรียมคำแนะนำในการจัดตั้งสถานที่จัดเก็บและการจัดการกากกัมมันตรังสี เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการในระดับชาติและสอดคล้องมาตรฐานความปลอดภัยสากล โดยการฝึกอบรมจะครอบคลุมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ก่อนการกำจัดกากกัมมันตรังสี ตลอดจนสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งตามวัตถุประสงค์ของพื้นที่ความปลอดภัยระดับ 4 (TSA 4) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งระบบแผนการป้องกันสาธารณะรวมทั้งการป้องกันจากการแผ่รังสีและกากกัมมันตรังสีแห่งชาติ นอกจากนี้ยังเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระดับชาติด้านการออกแบบการประเมินความปลอดภัยและการออกใบอนุญาตสถานปฏิบัติการในการเก็บกากกัมมันตรังสีและ ต้นกำเนิดรังสีปิดผนึกที่ไม่ได้ใช้แล้ว โดยจะจัดขึ้น ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

2.2 หน้าที่รับผิดชอบ

2.2.1 รัฐบาลเจ้าภาพรับรองที่จะเตรียมการ ดังนี้ ก) สถานที่ บริการ และวัสดุอุปกรณ์ ข) การให้บริการของผู้อำนวยการหลักสูตรและประสานงานกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ค) เจ้าหน้าที่ ธุรการและเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการเงิน ง) ผู้บรรยายและผู้สอนจากประเทศเจ้าภาพ จ) การเตรียมการสำหรับการทัศนศึกษาทางวิชาการและพาหนะขนส่งในพื้นที่

2.2.2 ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศรับรองที่จะเตรียมการ ดังนี้ ก) เจ้าหน้าที่ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหนึ่งคน ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของประเทศสมาชิกในการดำเนินการหลักสูตรเท่าที่จำเป็น ข) ค่าพาหนะเดินทางไปและกลับจากกรุงเทพฯ ของผู้เข้าร่วมและผู้บรรยาย ค) การสนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายย่อยที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินหลักสูตร และการสนับสนุนเงินค่ารับรองหนึ่งครั้ง ไม่เกิน 30 คน

2.3 หลักสูตรนี้เปิดสำหรับผู้เข้าร่วม 27 ท่าน จากประเทศสมาชิกทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศและเขตปกครอง นอกจากนี้ รัฐบาลเจ้าภาพได้รับสิทธิให้เสนอชื่อผู้เข้าร่วมได้จำนวน 5 ราย จากประเทศของตน

2.4 ผู้เข้าร่วมจะเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการโดยประเทศสมาชิก การคัดเลือกผู้เข้าร่วมจากการเสนอชื่อจากรัฐบาลต่าง ๆ จะกระทำโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศตามความเหมาะสมกับระเบียบปฏิบัติและหนังสือเชิญจะออกโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ

3. การประชุมส่วนภูมิภาค จะเป็นหัวข้อการสร้างเครือข่ายบุคลากรด้านการแพทย์เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายทางรังสีในเด็ก ซึ่งสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

3.1 จุดประสงค์ของการประชุม มุ่งเน้นการจัดการการป้องกันอันตรายทางรังสีในเด็ก โดยสร้างเครือข่ายบุคลากรด้านการแพทย์ในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมกระบวนการสร้างความเข้มแข็งในการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่สำคัญของมาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากรังสีก่อไอออนและความปลอดภัยของต้นกำเนิดรังสี (BSS 115) โดยจะจัดขึ้นที่ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร

3.2 หน้าที่รับผิดชอบ

3.2.1 รัฐบาลเจ้าภาพรับรองที่จะเตรียมการ ดังนี้ ก) สถานที่ บริการ และวัสดุอุปกรณ์ ข) การให้บริการของผู้อำนวยการจัดการประชุม และประสานงานกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ค) เจ้าหน้าที่ธุรการและเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการเงิน ง) ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเจ้าภาพ จ) ผู้แทนและผู้สนับสนุนของผู้เข้าร่วมการประชุมจากประเทศเจ้าภาพ ฉ) การจัดการสำหรับการเยี่ยมชมงานด้านวิชาการ

3.2.2 ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศรับรองที่จะเตรียมการ ดังนี้ ก) เจ้าหน้าที่จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหนึ่งคน ช่วยเหลือกลุ่มผู้ดำเนินงานเท่าที่จำเป็น สำหรับการดำเนินการประชุม ข) ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าพาหนะการเดินทางไปและกลับจากกรุงเทพฯ ของผู้เข้าร่วมการประชุมและของผู้เชี่ยวชาญ ค) ค่าพาหนะเดินทางไปและกลับจากกรุงเทพฯ รวมถึงค่าเบี้ยเลี้ยงของผู้เชี่ยวชาญที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศที่จ้างจากนอกประเทศเจ้าภาพ ง) การสนับสนุนเงินค่ารับรองหนึ่งครั้ง ไม่เกิน 30 คน

3.3 การประชุมในครั้งนี้เปิดสำหรับผู้เข้าร่วม 33 ท่านจากประเทศสมาชิกทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลเจ้าภาพได้รับสิทธิให้เสนอชื่อผู้เข้าร่วมได้จำนวน 3 รายจากประเทศของตน

3.4 ผู้เข้าร่วมจะเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการโดยประเทศสมาชิก การคัดเลือกผู้เข้าร่วมจากการเสนอชื่อจากรัฐบาลต่าง ๆ จะกระทำโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ตามความเหมาะสมกับระเบียบปฏิบัติและหนังสือเชิญจะออกโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ