การรับรองร่างเอกสารสำคัญในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 22 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 18

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 13:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 22 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้การรับรอง

2. เห็นชอบร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 18 และอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีให้การรับรอง

3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการรับรอง ขอให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 22 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 10 — 11 พฤศจิกายน 2553 และวันที่ 13 — 14 พฤศจิกายน 2553 ตามลำดับ โดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และมีกำหนดจะรับรองเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 22 และปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 18

2. สาระสำคัญ/ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

2.1 ร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีเอเปค (Joint Statement) เป็นเอกสารที่รัฐมนตรีต่างประเทศและ รัฐมนตรีการค้าเอเปคจะให้การรับรอง โดยสาระสำคัญรวมถึงการประกาศให้การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี การทบทวน รายงานผลการวัดการบรรลุเป้าหมายโบเกอร์ ก่อนที่จะนำเสนอให้กับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรอง การสานต่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การให้ความสำคัญกับการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย — แปซิฟิก เพื่อให้บรรลุวาระการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การสนับสนุนร่างยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตของเอเปค ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเสนอให้ผู้นำรับรอง การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ และการรับรองความริเริ่มรายสาขาต่างๆ

2.2 ร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Leaders’ Declaration) เป็นเอกสารที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปคจะให้การรับรอง มีสาระสำคัญสะท้อนเจตนารมณ์ของเอเปคที่จะสร้างประชาคม (community) ที่ไร้รอยต่อ แข็งแกร่ง และมั่นคง โดยส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน การเตรียมความพร้อมเพื่อปูทางไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย - แปซิฟิก การสร้างความเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การสร้างงานที่ดี การเพิ่มและกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมการใช้และการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การรักษาความมั่นคงของมนุษย์ และการลดความยากจน

3. โดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 6-7/2551 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 เกี่ยวกับคำแถลงการณ์ร่วมไทย — กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ระบุว่า “ปกติคำแถลงการณ์ร่วมที่ไม่ประสงค์จะให้มีผลทางกฎหมายนั้นไม่มีความจำเป็นต้องลงนาม” เนื่องด้วยร่างเอกสารทั้งสองฉบับจะมีการลงมติรับรอง (adoption) ในระหว่างการประชุมโดยไม่มีการลงนาม จึงไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ