การรับรองร่างปฏิญญาเตหะรานของการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ 9

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 13:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาเตหะรานของการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue : ACD) ครั้งที่ 9

2. อนุมัติในหลักการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเข้าประชุม ให้การรองรับเพื่อประกาศเจตนารมณ์ต่อร่างปฏิญญาฯ ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างปฏิญญาดังกล่าวในประเด็นที่ไม่ใช่ หลักการสำคัญขอให้อยู่ในดุลพินิจของคณะผู้แทนไทย โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รายงานว่า

1. กรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) เป็นกรอบความร่วมมือที่ริเริ่มโดยประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายระหว่างประเทศในเอเชียโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นเอเชียตลอดจนความร่วมมือในวงกว้าง โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลายของประเทศสมาชิก ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ ACD จะพบกันเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง ในการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ซึ่งประเทศสมาชิกจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพและช่วงระหว่างประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กในเดือนกันยายน

2. ปัจจุบัน ACD มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 31 ประเทศ ซึ่งได้ขยายสาขาความร่วมมือทั้งหมด 20 สาขา โดยประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อนในสาขาการท่องเที่ยว การเงินการคลัง และเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนในสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

3.เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD คู่ขนานกับการประชุมสมัชชา สหประชาชาติ ครั้งที่ 65 ณ นครนิวยอร์ก สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาได้ส่งมอบตำแหน่งประธาน ACD ให้แก่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

4. สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในฐานะประธาน ACD จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2553 ณ กรุงเตหะราน สาธารรัฐอิสลามอิหร่าน โดยมีหัวข้อ (theme) ของการประชุม คือ “สู่ความเป็นปึกแผ่นและบูรณภาพแห่งเอเชีย : ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง สันติภาพและความยุติธรรม” ทั้งนี้ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านได้เวียนร่างปฏิญญาเตหะรานซึ่งจะให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 9 พิจารณารับรอง

5. ร่างปฏิญญาเตหะรานของการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 9 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

5.1 ยืนยันที่จะสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย โดยการสนับสนุนสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง ความเป็นปึกแผ่น ความเคารพและอดกลั้นต่อกันและกัน

5.2 ยืนยันที่จะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนสนทนาและส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในหมู่ประเทศสมาชิก ACD การลดความทุกข์ทรมานทางเศรษฐกิจและสังคมของมนุษยชาติ และการสร้างเสริมอำนาจให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในทุก ๆ มิติของชีวิต

5.3 เสนอให้ ACD ในฐานะที่เป็นกลไกของประเทศในภูมิภาคเอเชียพิจารณาหามาตรการที่จะ จัดการกับผลกระทบของวิกฤตที่มีต่อประเทศสมาชิก

5.4 โดยที่วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมืองอย่างใหญ่หลวงต่อทุก ๆ ประเทศ จึงเสนอให้มีการฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินโลกให้กลับคืนมาดังเดิม และจัดการกับอุปสงค์โลกที่ลดต่ำลง ด้วยการปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนสำหรับภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมความเจริญเติบโตและโอกาสในการฟื้นฟูประเทศสมาชิก ACD

5.5 เสนอว่าควรให้ความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นและความแน่นอนให้กับระบบการเงิน สร้างความเข้มแข็งให้กับกฎระเบียบทางการเงิน เพิ่มความร่วมมือระหว่างธนาคารกลาง เพิ่มแหล่งสินเชื่อทางการเงิน สนับสนุนการค้า โดยหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้า ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รวมทั้งให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องพลังงานและพลังงานทดแทน

6. กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ มีความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่า โดยที่สาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันที่จะส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สำหรับประเทศสมาชิก ACD ซึ่งมิได้ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศและใช้วิธีการรับรอง (adopt) โดยไม่มีการลงนาม ดังนั้น ร่างปฏิญญาฯ จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญามาตรา 190 รัฐธรรมนูญฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ