บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของรัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 13:52 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของรัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับรัฐบาล

แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยกลไกการปรึกษาหารือด้านการขนส่งทางทะเล

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของรัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยกลไกการปรึกษาหารือด้านการขนส่งทางทะเล

2. มอบหมายให้อธิบดีกรมเจ้าท่าหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของรัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยกลไกการปรึกษาหารือด้านการขนส่งทางทะเล ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขบันทึกความเข้าใจดังกล่าวที่มิใช่สาระสำคัญ ขอให้อธิบดีกรมเจ้าท่าหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่อธิบดีกรมเจ้าท่าหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสำหรับการลงนามดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคม (คค.) รายงานว่า

1. ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ณ กรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน

การประชุมกลไกการปรึกษาหารือด้านการขนส่งทางทะเลอาเซียน-จีน ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 5 — 7 กันยายน 2550 ณ เมืองชิงเตา สาธารณรัฐประชาชนจีน ฝ่ายจีนได้เสนอร่างบันทึกความเข้าใจด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางทะเลของอาเซียนและจีน ซึ่งที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียน-จีนและที่ประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน ครั้งที่ 6 เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2550 ณ ประเทศสิงคโปร์ ได้มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

การประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งทางน้ำของอาเซียน ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 — 22 เมษายน 2553 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ประชุมได้ข้อยุติในร่างสุดท้ายของบันทึกความเข้าใจดังกล่าว และขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการตามขั้นตอนภายในเพื่อให้สามารถลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 29 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายน 2553 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ที่ประชุมรับทราบว่าประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ข้อยุติในสาระของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อขออนุมัติการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อให้สามารถลงนามได้ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน ครั้งที่ 9 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 — 12 พฤศจิกายน 2553 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม

2. สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจ

2.1 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมือในสาขาการขนส่งทางทะเลระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยทางทะเลของประเทศภาคี

2.2 สาขาความร่วมมือครอบคลุมถึงการควบคุมเรือในเมืองท่าการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล การรักษาความปลอดภัยในการขนส่งทางทะเล เครื่องหมายการเดินเรือ การฝึกอบรมและออกประกาศนียบัตรคนประจำเรือ และการสอบสวนอุบัติภัยและอุบัติการณ์ทางทะเล ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ คค. การลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้อาศัยความร่วมมือในกรอบของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานในสาขาความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมความร่วมมือจะอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายของประเทศภาคีแต่ละประเทศ

2.3 กำหนดให้มีการจัดประชุมกลไกการปรึกษาหารือด้านการขนส่งทางทะเลอาเซียน-จีนปีละ 1 ครั้ง ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยหัวหน้าคณะผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีหน่วยงานด้านความปลอดภัยในการขนส่งทางทะเลของจีนและสำนักเลขาธิการอาเซียนปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ และรายงานผลให้ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียน-จีน และที่ประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีนทราบ

2.4 หน่วยงานที่รับผิดชอบตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ คือ หน่วยงานที่มีอำนาจด้านการขนส่งทางทะเลของประเทศภาคี ซึ่งในส่วนของประเทศไทย คือ กรมเจ้าท่า คค.

2.5 บันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ณ วันที่ลงนามและจะยังมีผลต่อไปในเบื้องต้นเป็นเวลา 5 ปี และจะขยายเวลาต่อไป 5 ปีทันที ประเทศภาคีอาจบอกเลิกการเป็นภาคีบันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้โดยมีหนังสือแจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยสามเดือน

3. คค. ได้หารือกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เกี่ยวกับประเด็นที่จะต้องดำเนินการตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่ง กต. (กรมอาเซียน) พิจารณาแล้วเห็นว่าสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นเรื่องกลไกการหารือด้านการขนส่งทางทะเล จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และเรื่องนี้กรมเจ้าท่าเห็นว่าสามารถปฏิบัติได้ภายใต้กรอบของกฎหมายปัจจุบันด้วย

คค. พิจารณาเห็นว่าบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะใช้บังคับในกรอบของกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายของประเทศภาคี ดังนั้น คค. จึงเห็นด้วยกับความเห็นของ กต. และโดยที่บันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะมีส่วนช่วยสนับสนุนบทบาทของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน และสอดคล้องกับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-จีน ซึ่งผู้นำอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ลงนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 รวมทั้งเป็นการขยายความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลของอาเซียนไปยังประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น เพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานในสาขาความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ