การขอความเห็นชอบและอนุมัติการลงนามในกรอบความร่วมมือ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 13:58 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การขอความเห็นชอบและอนุมัติการลงนามในกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาไทย

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบการจัดทำกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาไทยระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย และสำนักส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ (China National Office for Teaching Chinese as a Foreign Language : Hanban) สาธารณรัฐประชาชนจีน

2. อนุมัติและมอบอำนาจ (full power) ให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือผู้ที่เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษามอบหมายเป็นผู้ลงนามในกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาไทย

3. เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการภายใต้กรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาไทย

4. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาไทยที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานว่า

1. ศธ.โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ Hanban จะร่วมกันจัดทำกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาไทย [Framework of Co-operation on Development of Chinese Language Teaching and Learning in Thai Higher Education Institutions between the Office of the Higher Education Commission Ministry of Education, the Kingdom of Thailand and China National Officer for Teaching Chinese as a Foreign Language (Hanban), the People’s Republic of China] โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถของคณาจารย์ไทยในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในระดับอุดมศึกษา

2. สาระสำคัญของความร่วมมือ Hanban สรุปได้ดังนี้

2.1 กิจกรรมความร่วมมือ ได้แก่

2.1.1 การเสนอให้ Hanban ส่งผู้เชี่ยวชาญชาวจีนมาเป็นที่ปรึกษาให้แก่คณะทำงานของ สกอ. ในการพัฒนาตำราภาษาจีนและสื่อการเรียนการสอนแบบมัลติมีเดียระดับอุดมศึกษา

2.1.2 การส่งผู้เชี่ยวชาญชาวจีนมาร่วมทำงานกับนักวิชาการไทยในการพัฒนาแบบทดสอบสมรรถนะภาษาจีนของอาจารย์ชาวไทยเพื่อค้นหาความจำเป็นที่อาจารย์ไทยจะต้องมีการพัฒนาสมรรถนะด้านภาษาจีนเพิ่มเติม

2.1.3 เสนอให้ Hanban จัดสรรทุนการศึกษาและฝึกอบรมภาษาจีนให้แก่คณาจารย์ชาวไทย

2.2 เงินสมทบ

2.2.1 สกอ.จะจ่ายเงินสมทบให้แก่ผู้เชี่ยวชาญจีนของ Hanban ดังนี้ 1) เงินเดือน 26,000 บาท 2) อำนวยความสะดวกการตรวจลงตราเข้าประเทศไทย 3) จัดหาที่พักที่เหมาะสม 4) ให้การต้อนรับในการเดินทางระหว่างสนามบินและที่พักในประเทศไทย 5) อำนวยความสะดวกในการจัดทำใบอนุญาตการทำงาน การต่ออายุวีซ่าและใบอนุญาตการทำงาน 6) จัดหาพื้นที่สำนักงานและอุปกรณ์สำนักงาน รวมทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต 7) จัดหาตู้เย็นและโทรทัศน์ระหว่างพำนักในประเทศไทย 8) จัดหาพาหนะในการเดินทางให้ตามคำร้องขอและระหว่างปฏิบัติภารกิจในประเทศไทย

2.2.2 เงินสมทบจาก Hanban ประกอบด้วย 1) ค่าพาหนะการเดินทางระหว่างประเทศ 2) เงินเดือน 3) อุปกรณ์ที่จำเป็น ซอฟต์แวร์และวัสดุอุปกรณ์สำหรับพัฒนาสื่อการเรียนการสอนภาษาจีนและคู่มือ 4) อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการทดสอบสมรรถนะภาษาจีนที่จะลงทุนร่วมกันและจัดทำขึ้นโดยคู่ภาคี ซึ่งจะมีการเจรจาต่อรองระหว่างคู่ภาคีต่อไป 5) ทุนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและการจัดอบรมภาษาจีนระยะสั้น 6) ตำราภาษาจีนและคู่มืออาจารย์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ