รายงานสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (วันที่ 26 ตุลาคม — 1 พฤศจิกายน 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 14:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลรายงานสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (วันที่ 26 ตุลาคม — 1 พฤศจิกายน 2553) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปได้ดังนี้

1. สถานการณ์น้ำในภาพรวม

  • สภาพภูมิอากาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่องมรสุมเลื่อนจากภาคกลางตอนล่าง ลงไปพาดผ่านภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรง พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ตอนบนของประเทศมีฝนลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนตกมากขึ้น และมีฝนตกหนักในบางพื้นที่
  • สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำเก็บกัก ประมาณร้อยละ 75 อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง

เขื่อนที่มีน้ำล้นอาคารระบายน้ำ มีจำนวน 14 แห่ง คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา เขื่อนหนองปลาไหล จ.ระยอง และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง

เขื่อนที่มีน้ำระหว่างร้อยละ 81 - 100 มีจำนวน 7 แห่ง คือ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก

เขื่อนที่มีน้ำระหว่างร้อยละ 50 - 80 มีจำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา

เขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 มีจำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

  • สภาพน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แม่น้ำที่มีปริมาณน้ำล้นตลิ่ง คือ แม่น้ำยม ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และที่ อ.สามง่าม จ.พิจิตร แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ที่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี และที่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำป่าสัก ที่ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ แม่น้ำชี ที่ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น และที่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม แม่น้ำมูล ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และที่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ลำปลายมาศ ที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ลำชี ที่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ห้วยทับทัน ที่ อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ และห้วยสำราญ ที่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ

แม่น้ำที่มีปริมาณน้ำมาก คือ แม่น้ำน่าน ที่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร และที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ แม่น้ำพอง ที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และแม่น้ำปราจีนบุรี ที่ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี

2. สถานการณ์อุทกภัยในรอบสัปดาห์ มีพื้นที่ที่เกิดเหตุน้ำท่วมใน 23 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย พิษณุโลก พิจิตร ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี หนองบัวลำภู อุทัยธานี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ นครปฐม ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี พังงา และกระบี่

3. การให้ความช่วยเหลือ

3.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ได้เดินทางตรวจพื้นที่น้ำท่วมและมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ น้ำท่วม

  • ในวันที่ 21 ต.ค. 2553 ตรวจพื้นที่น้ำท่วมที่บ้านปากกะพอก อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี และมอบถุงยังชีพและน้ำดื่ม จำนวน 200 ชุด
  • ในวันที่ 23 ต.ค. 2553 ตรวจพื้นที่น้ำท่วมที่ตำบลปากตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี และมอบถุงยังชีพจำนวน 400 ชุด และน้ำดื่ม จำนวน 5,000 ขวด พร้อมบินสำรวจสภาพพื้นที่น้ำท่วม บริเวณลุ่มน้ำป่าสักและเจ้าพระยาตอนล่าง
  • ในวันที่ 24 ต.ค. 2553 ได้ไปตรวจสภาพน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

3.2 กรมทรัพยากรน้ำ มอบน้ำดื่มเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา ปราจีนบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม น่าน พิษณุโลก จำนวนรวม 42,600 ขวด สนับสนุนรถผลิตน้ำประปาเคลื่อนที่ 4 คัน จัดรถยนต์รับส่งประชาชนที่ประสบภัย เครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง ถุงยังชีพ 200 ชุด ชุดสารส้มและคลอรีนเม็ด 65 ชุด

3.3 ในรอบสัปดาห์นี้ สถานีเตือนภัยล่วงหน้าของกรมทรัพยากรน้ำมีการแจ้งเตือนภัย จำนวน 8 ครั้ง ครอบคลุม 17 หมู่บ้าน ใน 6 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สุโขทัย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพังงา เป็นการเตือนในระดับเตรียมอพยพ 7 ครั้ง 16 หมู่บ้าน และระดับเฝ้าระวัง 1 ครั้ง 17 หมู่บ้าน

3.4 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนินการป้องกันน้ำท่วมบ่อบาดาลแบบถาวร 1,086 บ่อ เป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล 200 บ่อ ซ่อมเครื่องสูบน้ำ 160 เครื่อง ซ่อมแซมระบบประปา 50 ระบบแจกน้ำดื่ม 189,480 ขวด และแจกน้ำจากระบบประปาเคลื่อนที่ 362,960 ลิตร

3.5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดส่งรถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน รถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร 3 คัน และรถแบ็กโฮ จำนวน 1 คัน เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

4. การเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2553

4.1 ให้แจ้งทุกหน่วยงานเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ในช่วงวันที่ 1 - 4 ต.ค. 2553 เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมภาคใต้ ประกอบกับพายุดีเปรสชั่นบริเวณด้านตะวันออกของจังหวัดนราธิวาส กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คาดว่า อาจจะขึ้นฝั่งบริเวณตั้งแต่จังหวัดสงขลาถึงสุราษฎร์ธานี ภายในคืนวันที่ 1 พ.ย. 2553 นี้ จะทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2553 ปริมาณฝนที่สงขลา ประมาณ 244 มม.

4.2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์น้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ที่มีปริมาณน้ำเก็กกักเต็มอ่าง โดยวันที่ 31 ต.ค. 2553 มีน้ำประมาณร้อยละ 117 ในการระบายน้ำได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำด้วยแล้ว โดยเฉพาะจุดบรรจบของแม่น้ำพองกับแม่น้ำชี แต่ต้องลดระดับน้ำที่ท่วมหมู่บ้านบริเวณเหนือเขื่อนด้วย เช่น พื้นที่ อ.โนนสัง และ อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู

4.3 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พื้นที่ลุ่มน้ำชี สถานการณ์น้ำของ จ.ชัยภูมิ เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว โดยปัจจุบัน ปริมาณน้ำหลากสูงสุดอยู่ที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น และคาดว่า ปริมาณน้ำหลากสูงสุดจะไหลไปถึง จ.ยโสธรในวันที่ 6 พ.ย. 2553 และจะถึง จ.อุบลราชธานี ประมาณวันที่ 8 - 9 พ.ย. 2553

พื้นที่ลุ่มน้ำมูล สถานการณ์น้ำของจังหวัดนครราชสีมา ปริมาณน้ำในอำเภอต่างๆเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ปริมาณน้ำหลากสูงสุดอยู่ที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ คาดว่า ปริมาณน้ำหลากสูงสุดจะถึงอุบลราชธานีในวันที่3 พ.ย. 2553

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. 2553 เป็นต้นไป ระดับน้ำท่วมที่อุบลราชธานีจะสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 50 ซม. จนถึงวันที่ 9 พ.ย. 2553 ปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำชีจะลงมาสมทบ ทำให้ระยะเวลาการท่วมจะยาวนานออกไปบ้าง หลังจากนั้น ระดับน้ำท่วมจะทรงตัวและจะค่อยๆลดลงจนกลับสู่สภาวะปกติภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553 ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ อ.วารินชำราบ ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2553 กรมทรัพยากรน้ำได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานอุทกภัยเฉพาะกิจล่วงหน้ากรมทรัพยากรน้ำ จังหวัดอุบลราชธานี และได้ประสานงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด นำเครื่องสูบน้ำ จำนวน 50 เครื่อง ไปติดตั้งที่แก่งตะนะเพื่อสูบผลักดันน้ำมูลให้ลงแม่น้ำโขงได้เร็วขึ้น

4.4 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง

พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน ปริมาณฝนตอนบนของประเทศลดลง ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือผ่าน จ.นครสวรรค์ น้อยลง แต่ปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำสะแกกรังยังมากอยู่ ทำให้ผันน้ำออก ทุ่งตะวันตกได้น้อย ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลดลง ทำให้สามารถผันน้ำออกทุ่งตะวันออกได้มากขึ้น จึงทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำในเขตจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร(บางส่วน) และสมุทรปราการ คาดว่า พื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำจะสามารถเข้าสู่สภาวะปกติได้ในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้

จากการระบายน้ำในปัจจุบัน คาดว่า ระดับน้ำในวันที่น้ำทะเลหนุนสูง วันที่ 8 พ.ย. 2553 ที่บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ ระดับน้ำจะอยู่ที่ 1.96 ม. ต่ำกว่าแนวป้องกันของกรุงเทพฯ 0.54 ม.

4.5 การแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่น้ำท่วมขัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยกรมควบคุมมลพิษ มีกำหนดจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ในวันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน 2553 เนื่องจากมีระบบบำบัดน้ำเสียและโรงกำจัดขยะมูลฝอยได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมทั้งปัญหาน้ำเสียในพื้นที่น้ำท่วมขัง ในเบื้องต้นได้ประสานหน่วยงานที่มีการผลิตสารสกัดชีวภาพสำหรับบำบัดน้ำเสีย ได้แก่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้การสนับสนุนสารสกัดชีวภาพแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปใช้บรรเทาปัญหาน้ำเสียในพื้นที่น้ำท่วมขังชุมชนก่อน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ