รายงานผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และเฝ้าระวังพายุดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 14:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลรายงานผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และเฝ้าระวังพายุดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สรุปได้ดังนี้

ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง และกำลังขยายพื้นที่ออกไปสู่ภาคใต้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้สนับสนุนการทำงานและประสานงานกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยรวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย กระทรวงฯ ขอรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงาน ดังนี้

1. ศูนย์บริหารข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สรุปผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 16 — 31 ตุลาคม 2553 ดังนี้

1.1 ตอบข้อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอุทกภัยผ่านสายด่วน 1111 จำนวน 5,668 ราย (เพิ่มเติมจากรายงานครั้งก่อน จำนวน 2,539 ราย)

1.2 รับข้อร้องทุกข์จากผู้ประสบเหตุอุทกภัย จำนวน 2,187 ราย (เพิ่มเติมจากรายงานครั้งก่อน จำนวน 1,414 ราย)

1.3 รับข้อร้องทุกข์ผ่านระบบ SMS หมายเลข 4567891 จำนวน 741 ราย (ดำเนินการสำเร็จ จำนวน 406 ราย ไม่สามารถติดต่อได้ จำนวน 335 ราย) (เพิ่มเติมจากรายงานครั้งก่อน จำนวน 369 ราย)

1.4 รับข้อมูลและประสานความช่วยเหลือผ่านระบบวิทยุ VHF ของกระทรวงฯ และเครือข่ายวิทยุสมัครเล่น (เพื่อนเตือนภัย) ระหว่างวันที่ 18-31 ตุลาคม 2553 จำนวน 211 ราย

1.5 รับข้อมูลและประสานความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 02-1416587-8 ระหว่างวันที่ 23-31 ตุลาคม 2553 จำนวน 194 ราย

1.6 การติดตามเฝ้าระวังอุทกภัย ทางข่าวสารและเว็บไซด์ต่างๆ โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ กรมชลประทาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการแจ้งเตือนภัยร่วมกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

1.7 บริษัท กสท โทรคมนาคม (มหาชน) ดำเนินการติดตั้ง VDO CONFERENCE ณ ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลให้นายกรัฐมนตรีประชุมจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2553 เวลา 19.00 น.

2. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการติดตั้งระบบวิทยุสั่งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดชัยภูมิ

3. การดำเนินงานแจ้งเตือนภัยพายุดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน 2553

3.1 การออกประกาศแจ้งเตือนภัยประชาชน รวม 6 ฉบับ และมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคใต้ รวม 14 ฉบับ และผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยในภาคใต้ รวม 19 ฉบับ แจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักพายุลมแรง มีคลื่นซัดฝั่งอันอาจจะก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่มได้

3.2 กรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้วิเคราะห์สถานการณ์เรื่องพายุดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนเข้าชายฝั่งของภาคใต้ในแนวระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ดังนั้นกรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยรักษาการอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา (นายต่อศักดิ์ วานิชขจร) จึงได้ออกประกาศแจ้งเตือนภัยทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เวลา 10.00 น. แจ้งเตือนให้กับประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องให้ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักพายุลมแรงมีคลื่นซัดฝั่งอันอาจจะก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มได้

3.3 กรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ออกประกาศแจ้งเตือนภัยทางหอกระจายข่าว ณ พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว ได้แก่พื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และ จังหวัดยะลา ตั้งแต่เวลา 10.35 น. เป็นต้นไป และเปิดต่อเนื่องเฉพาะบางจุดที่มีผลกระทบเป็นระยะๆ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ